พลังงาน
จากกรณีความห่วงกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการผลิตของบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ในแปลง G1/61 (แหล่งกลุ่มเอราวัณเดิม) เนื่องจากยังเจรจาหาข้อยุติไม่ได้กับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานรายเดิมนั้น
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
ในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว และได้เร่งประสานการเจรจาระหว่าง 2 บริษัท โดยมุ่งยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ประสานให้บริษัท ปตท.สผ. อีดี
ผู้ดำเนินงานรายใหม่ ในแปลง G1/61 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และ บริษัท เชฟรอนฯ ผู้รับสัมปทานรายเดิม มาหารือร่วมกันไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง ทั้งในระดับผู้บริหารองค์กร และในระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) เป็นไปอย่างราบรื่น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งผลที่ได้ถือว่าดำเนินงานสำเร็จไปพอสมควร สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในหลายๆ ประเด็น เช่น การเข้าพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่าง การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การสำรวจพื้นที่เบื้องต้นเพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความซับซ้อนในการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านจึงยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังต้องหาข้อตกลงที่เหมาะสมร่วมกันให้ได้ โดยกุญแจสำคัญที่จะทำให้ความพยายามในการประสานการเจรจาของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประสบความสำเร็จนั้น ก็คือทั้งผู้ดำเนินงานรายปัจจุบันและรายใหม่จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงใจและเร่งด่วนให้ได้ข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกล่าว
ทั้งนี้ บริษัท ปตท.สผ. อีดี เป็นผู้ชนะการประมูลและจะเป็นผู้ดำเนินงานรายใหม่ในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณหลังจากสัมปทานของ บริษัทเชฟรอนฯ หมดอายุลงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ซึ่งตามเงื่อนไขการประมูลนั้น บริษัท ปตท.สผ. อีดี จะต้องผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ในอัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ด้วยความล่าช้าในการเข้าพื้นที่ อาจทำให้ไม่สามารถผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่อง
More Stories
SSP ติดปีก! รุกขยายพอร์ตโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
ราช กรุ๊ป – เอไอเอฟ กรุ๊ป – โรนิตรอน จับมือศึกษาและพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน – กรีนแอมโมเนีย จากพลังงานสะอาดใน สปป.ลาว
“พลังงาน”ชูต้นแบบสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ เมืองคาร์บอนต่ำ