กรุงเทพฯ – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เทคซอส และสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (TSA) เป็นเจ้าภาพร่วม (Co-host) ในการจับมือกับ Epicenter เปิดตัวโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพไทย-สวีเดน “The Scaleup Impact! Thailand – Sweden Global Startup Acceleration Program” เพื่อยกระดับระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทยสู่เวทีระดับสากล โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพไทยสาขา Impact Tech กับตลาดระดับโลก ผ่านกระบวนการบ่มเพาะที่เข้มข้นเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก โดยมีนางครองขนิษฐ รักษ์เจริญ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ให้เกียรติกล่าวเปิดงานร่วมกับ ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจหลักของ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม และ Thailand and Nordic Countries Innovation Unit (TNIU) คือ การส่งเสริมการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและความยั่งยืน ซึ่งสวีเดนขึ้นชื่อว่าเป็น “Innovation Powerhouse” หรือผู้นำทางด้านนวัตกรรมอันดับต้นของโลก และยังเป็นศูนย์กลางของยูนิคอร์นที่ประสบความสำเร็จมากมาย ซึ่งกุญแจสำคัญคือการเข้าถึงโอกาสและระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ส่งเสริมต่อการเติบโตสู่ระดับโลก ด้วยเหตุนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมด้วยหน่วยงานชั้นนำในระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทยทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้ริเริ่ม “Flagship project” ที่มีการบูรณาการ ทั้งด้านแผนงาน งบประมาณ การสนับสนุนโครงการฯ โดยโครงการ Scaleup impact! นี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ร่วมงานกับบริษัท Epicenter (Stockholm) ซึ่งเป็น Accelerator ที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งเสริมศักยภาพสตาร์ทอัพ เพื่อเปิดประตูโอกาสจากไทยสู่สวีเดน ภูมิภาคนอร์ดิก และตลาดโลก “ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ความท้าทายใหม่ ๆ ต้องอาศัยโซลูชั่นใหม่ ๆ และการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ซึ่งสตาร์ทอัพคือกำลังสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว ดิฉันจึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมสู่เป้าหมายความยั่งยืนเข้าร่วมโครงการนี้ และดิฉันเชื่อมั่นในศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยว่าสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด จาก “Soonicorn สู่การเป็น ยูนิคอร์น” ได้ในอย่างแน่นอน”
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า บพข. โดยแผนงานโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันระดับนานาชาติของภาคเอกชนไทยผ่านกระบวนการความร่วมมือในรูปแบบเครือข่ายที่มีการทำงานร่วมกันทั้งภาคการศึกษา สถาบันวิจัย ภาครัฐ และภาคเอกชน ของไทยและต่างประเทศในการทำงานวิจัยและสร้างนวัตกรรม ผ่านเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ ในรูปแบบกระบวนการเลือกรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และการถ่ายทอดวิทยาการและเทคโนโลยีที่พัฒนาในประเทศให้กับต่างประเทศที่ต้องการอย่างมีทิศทาง ตรงตามความต้องการของประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคเอกชนไทยในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดนานาชาติได้
“สำหรับโครงการนี้ บพข. ยินดีสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะกลุ่ม Deep Tech Startup มีโอกาสเร่งสร้างการเติบโต โดยเข้าสู่เครือข่ายผู้ประกอบการในประเทศสวีเดน เพื่อเป็นหมุดหมายแรกในการเข้าสู่ตลาดโลก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสสร้างขีดความสามารถการแข่งขันระดับนานาชาติ และโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนขนาดใหญ่ที่จะช่วยทำให้สินค้าและบริการของไทยกระจายไปได้ทั่วโลก ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA ในฐานะ “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” มุ่งเน้นส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดดเพื่อก้าวสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดสวีเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่แข็งแกร่งและเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมชั้นนำของโลก สำหรับความร่วมมือภายใต้โครงการ The Scaleup Impact! Thailand – Sweden Global Startup Acceleration Program ครั้งนี้ เป็นการบ่มเพาะสตาร์ทอัพไทยสาขา Impact Tech ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จำนวน 12 ราย โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพไทยกับตลาดระดับโลก ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบการและนักลงทุนชั้นนำจากสวีเดน ซึ่งมีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมและมีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก และสาขา Impact Tech เป็นสิ่งที่นักลงทุนกลุ่มประเทศนอร์ดิกให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน ตั้งแต่กันยายน 2567 – มีนาคม 2568 ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลาย ได้แก่ การเวิร์กช็อปเพื่อกำหนด Objectives and Key results (OKR) การให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ (Expert talks) และการจับคู่ธุรกิจ (Active Sales Support + Match Making) เพื่อพัฒนาทักษะและขยายเครือข่ายให้สตาร์ทอัพไทยสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ นอกจากนี้ ยังจะได้รับโอกาสนำเสนอแผนธุรกิจ ณ ประเทศสวีเดน ในงาน Thailand Pitch Day 2025 เดือนมีนาคม 2568 อีกด้วย “โครงการนี้ นอกจากจะช่วยเปิดประตูสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดใหม่ ๆ และสร้างโอกาสในการเติบโตอย่าง ไม่จำกัดแล้ว ยังช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงทรัพยากร เครือข่าย รวมถึงตลาดยุโรปที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้าง การเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นผู้นำระดับโลกได้ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ NIA ในการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพไทย สู่ระดับโลก”
ทั้งนี้ สตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีในช่วงระยะเริ่มต้น (early stage) ที่ต้องการขยายธุรกิจออกสู่ตลาดต่างประเทศในสาขา ImpactTech เช่น Smart City Solution, Green Energy, Climate Tech, Creative Industries, Health Tech, FoodTech, Fin Tech สามารถเข้าร่วมโปรแกรม “The Scaleup Impact! Thailand – Sweden Global Startup Acceleration Program” ได้ที่ Epicenter Accelerate Thailand Cohort 2024/25 (confetti.events) หรือ แสกน QR Code สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ – 30 กันยายน 2567
More Stories
“วราวุธ” เผย ศรส.พิษณุโลก ช่วยเด็กหญิง 12 ปี ถูกแม่แท้ๆ พาไปขายบริการ หาเงินขัดหนี้รายวัน
คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการเคหะชุมชนคลองจั่น
“ประเสริฐ” สั่งการ สคส. ตรวจสอบข่าว ห้างดังถูกแฮกข้อมูลส่วนบุคคล 5 ล้านราย