26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

สวพส. หนุนชุมชนห้วยก้างปลา “ปลูกผักปลอดภัย รายได้งาม ตามพื้นที่ที่ดินจำกัด”

เป้าหมายในการขยายผลสำเร็จโครงการหลวงภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เพื่อพัฒนาให้ชุมชนบนพื้นที่สูงอยู่ดีมีสุขอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยใช้องค์ความรู้ ผลงานวิจัย และการพัฒนาแบบองค์รวม ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของพื้นที่ มุ่งเน้นการส่งเสริมพืชทางเลือกใหม่ที่ใช้พื้นที่น้อย แต่ได้ผลตอบแทนสูง เพื่อสร้างรายได้ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ทำกินร่วมกับกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการพัฒนากลุ่มเกษตรกรในการปลูกผักอินทรีย์ ส่งผลให้ “ชุมชนห้วยก้างปลา” เป็นชุมชนต้นแบบในการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างเต็มศักยภาพโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยก้างปลา มีพื้นที่ดำเนินงานตามขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำจันครอบคลุม 9 หมู่บ้าน ของตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ประชากรประกอบด้วย ชนเผ่าลีซู ลาหู่ อาข่า เมี่ยน จีน ลั๊วะ และคนเมือง อุปสรรคของการพัฒนาคือ พื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีการถือครองที่ดินค่อนข้างจำกัดเฉลี่ย 2-5 ไร่ต่อครัวเรือนและชาวบ้านมากกว่า 278 ครัวเรือน ไม่มีที่ดินทำกิน ชุมชนมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพียง 25,000 บาทต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่ใช้ภายในครอบครัว

นายประสิทธ์ วงศ์ผา หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยก้างปลา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) กล่าวว่า สวพส. ได้ใช้กลไกเชิงนโยบายที่เอื้อต่อกระบวนการมีส่วนร่วม อาศัยองค์ความรู้ตามแนวทางโครงการหลวง ขับเคลื่อนด้วยการจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงให้สอดคล้องเหมาะสมกับพื้นที่ เกิดกระบวนการจัดการความรู้แก้ไขปัญหาการมีพื้นที่ทำกินจำกัดของชุมชนโดยการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนระบบการทำเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นระบบเกษตรประณีต ใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการปลูกผักในโรงเรือนในระบบปลอดภัยและระบบอินทรีย์ ร่วมกับการพัฒนากลุ่มเกษตรกรภายใต้ชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนลุ่มน้ำจัน” เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการตลาดทำให้ปัจจุบันพื้นที่ “ห้วยก้างปลา” เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ยครอบครัวละ 76,000 บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีรายได้ จากการจำหน่ายผักอินทรีย์ประมาณ 2.4 ล้านบาท โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลุ่มน้ำจันเป็นแกนหลักที่เข้มแข็ง และมีศักยภาพในการบริหารจัดการตลาด สามารถสร้างตราผลิตภัณฑ์ชุมชน โอบดอย ออร์แกนิค ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่คนในชุมชนสามารถนำมาถอดบทเรียนเพื่อขยายผลไปสู่ชุมชนบนพื้นที่สูงอื่นๆ ด้วย 

นายเกาชิง แซ่กง เกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยก้างปลา กล่าวว่า เมื่อก่อนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นหลักมีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ซึ่งรายได้ยังไม่พอเลี้ยงครอบครัวและยังมีหนี้สินเพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจมาเป็นเกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยก้างปลา โดยทำผักเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก อาทิ คะน้าฮ่องกง เบบี้ฮ่องเต้ ผักกาดหอม ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5 โรงเรือน สามารถสร้างรายได้ประมาณ 5,250 บาทต่อรอบต่อ 1 โรงเรือน หรือประมาณ 200,000 บาทต่อปี นอกจากนั้นยังเลี้ยงหมูหลุมเพื่อนำมูลมาทำปุ๋ยไว้ใช้เอง ลดการซื้อปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปัจจุบันได้รวมกลุ่มกับเกษตรกรเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนลุ่มน้ำจัน และนำผลผลิตมาจำหน่ายให้กับบริษัท รวมถึงจัดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้แบรนด์ โอบดอย ออร์แกนิค ซึ่งสามารถสร้างรายได้เพิ่ม ครอบครัวและชุมชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้และมีภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

Skip to content