รอบคัดเลือกระดับภูมิภาค ประเดิมพื้นที่ภาคใต้ หาสุดยอดทีมเข้าร่วมแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย พ.ย.นี้
วานนี้ (26 กันยายน 2567), กรุงเทพมหานคร – กระทรวงดีอี โดย ดีป้า ลุยจัดการแข่งขันบิน – ซ่อมโดรนเกษตร รอบคัดเลือกระดับภูมิภาคในรายการ Thailand Agriculture Drone Competition 2024 กิจกรรมสำคัญ ในโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) คิกออฟพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อยอดศักยภาพนักบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และช่างซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร พร้อมเฟ้นหาสุดยอดทีมเข้าร่วมแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนนี้
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) โดย ดีป้า และเครือข่ายพันธมิตรจัดมหกรรมการแข่งขันโดรนเพื่อการเกษตรครั้งประวัติศาสตร์ในชื่อ Thailand Agriculture Drone Competition 2024 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท โดย Thailand Agriculture Drone Competition 2024 คือหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีหลักในการส่งเสริมการต่อยอดศักยภาพนักบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และช่างซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรทั่วประเทศ
“โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) มุ่งสร้างระบบนิเวศดิจิทัล พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรและกลุ่มชุมชนทั่วประเทศประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรที่ผลิตในประเทศไทย และผ่านการรับรองมาตรฐานด้วยตราสัญลักษณ์ dSURE จาก ดีป้า ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบินโดรนและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรแก่เกษตรกรและกลุ่มชุมชน อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านธุรกิจซ่อมบำรุงเดิมไปสู่ศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตร โดยประเมินว่า ภายในระยะเวลา 1 ปีจะเกิดศูนย์ซ่อมโดรนเพื่อการเกษตรทั่วประเทศ จำนวน 50 ศูนย์ ชุมชนใช้งานโดรนเพื่อการเกษตร 500 ชุมชน หรือราว 10,000 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมไม่ต่ำกว่า 4 ล้านไร่” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ล่าสุด จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ดีป้า พร้อมเครือข่ายพันธมิตรร่วมจัดการแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร และการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร ในรายการ Thailand Agriculture Drone Competition 2024 รอบคัดเลือกระดับภูมิภาค (ภาคใต้) โดยได้รับเกียรติจาก นายพูลศักดิ์ โสภณปทุมรักษ์ นายอำเภอกาญจนดิษฐ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน และมี นายบุญทวี ดวงนิราช ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน นายรพีพัฒน์ นำนาผล ผู้จัดการสาขาภาคใต้ตอนล่าง ดีป้า ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มชุมชน เกษตรกร และประชาชนที่สนใจร่วมงานจำนวนมาก ณ ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ Thailand Agriculture Drone Competition 2024 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 รอบคือ รอบคัดเลือกระดับภูมิภาค โดยจะเดินสายจัดการแข่งขันใน 5 ภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ ภาคกลางและตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคอีสาน และภาคเหนือ และรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ซึ่งเกณฑ์การให้คะแนน จะพิจารณาจากการทำเวลาดีที่สุด ถูกต้องที่สุด และครบถ้วนตามภารกิจ เพื่อเฟ้นหาผู้ชนะในแต่ละประเภท
สำหรับการแข่งขันรอบคัดเลือกระดับภูมิภาค (ภาคใต้) ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขัน บินโดรน จำนวน 45 ทีม และผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันซ่อมโดรน จำนวน 20 ทีม โดยผลการแข่งขันแบ่งออกเป็น
ทีมผู้ชนะการแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมเต่าทอง รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง ได้แก่ ทีม NAc1 รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง ได้แก่ ทีมโดรนซิ่งนายหัวบอน รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท
ทีมผู้ชนะการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม SRPC รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง ได้แก่ ทีมช่างกลเกษตร 3 รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง ได้แก่ ทีม KB โดรนเกษตร รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท
พร้อมกันนี้ การแข่งขัน Thailand Agriculture Drone Competition 2024 รอบคัดเลือกระดับภูมิภาค (ภาคใต้) ในประเภทการแข่งขันบินและควบคุมโดรนเพื่อการเกษตรจะคัดเลือกทีมที่มีคะแนนสูงที่สุด 10 อันดับ ส่วนประเภทการแข่งขันซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตรจะคัดเลือกทีมที่มีคะแนนสูงที่สุด 6 อันดับ ร่วมแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนนี้ที่สถาบันพัฒนามันสำปะหลัง จังหวัดนครราชสีมา
นอกจากนี้ Thailand Agriculture Drone Competition 2024 รอบคัดเลือกระดับภูมิภาค (ภาคใต้) ยังได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนอย่าง บริษัท ยารา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อีซี่ 2018 จำกัด (NAcDrone) และ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีเป้าหมายเดียวกันคือร่วมส่งเสริม การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างโอกาสการเข้าถึงและพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่กลุ่มชุมชน เกษตรกร และช่างชุมชน เพื่อเป็นกําลังสําคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
More Stories
“วราวุธ” เผย ศรส.พิษณุโลก ช่วยเด็กหญิง 12 ปี ถูกแม่แท้ๆ พาไปขายบริการ หาเงินขัดหนี้รายวัน
คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ลงพื้นที่ศึกษาดูงานโครงการเคหะชุมชนคลองจั่น
“ประเสริฐ” สั่งการ สคส. ตรวจสอบข่าว ห้างดังถูกแฮกข้อมูลส่วนบุคคล 5 ล้านราย