26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

“ไทย” ย้ำยุทธศาสตร์ “Medical Hub” เตรียมจัดประชุม “FNM 2024” ด้านระบบทางเดินอาหาร  ครั้งแรก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ “ประเทศไทย” ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการ ระดับนานาชาติด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร (The Federation of Neurogastroenterology and Motility Meeting 2024 – FNM 2024) รวมแพทย์ และนักวิชาการกว่า 1,000 คน จากทั่วโลก ตอกย้ำความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของบุคลากรทางการแพทย์ไทยทางด้านวิชาการในเวทีนานาชาติ พร้อมร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาล ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (2568–2577) โดยงานประชุมจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 6–8 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

  งานประชุม FNM จัดโดยสหพันธ์ระบบประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว (Federation of Neurogastroenterology and Motility) โดยมีพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประสาท และทางเดินอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคที่พบบ่อย ในประชากรทั่วไป เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ โรคลำไส้แปรปรวน และท้องผูกเรื้อรัง โดยงานประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างเครือข่ายของนักวิจัยและแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ จากทั่วโลก โดยประเทศไทยมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสหพันธ์ฯ และได้รับเลือกเป็นผู้จัดงานถึง 2 ครั้ง คือในปี 2014 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก แต่ได้มีการย้ายสถานที่จัดงานเนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่สงบ และในปีนี้ 2024 นี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 และเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าทางการแพทย์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยมีวาระแก้ไขปัญหาโรคเกี่ยวกับระบบประสาท และทางเดินอาหารที่กำลังน่าเป็นห่วงในคนยุคใหม่

    ศ. นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ ประธานจัดงาน FNM 2024 หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้า     ศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจของวงการแพทย์ไทยที่ FNM และสมาคมระบบประสาททางเดินอาหาร และการเคลื่อนไหวแห่งเอเชีย (The Asian Neurogastroenterology and Motility Association – ANMA) โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านทางเดินอาหารจากทั่วโลก วางใจให้ประเทศไทยจัดงาน FNM 2024 การกลับมาเลือกประเทศไทยในครั้งนี้จึงการันตีถึงชื่อเสียงของบุคลากรทางการแพทย์ไทย ทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งวิชาการและการวิจัยที่เป็นเลิศ ที่ได้รับการยอมรับระดับสากล เป็นองค์ประกอบสำคัญในการช่วยผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Medical Hub ภายใต้ยุทธศาสตร์ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการจัดบริการสุขภาพ และการพัฒนาการรักษาพยาบาล ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ เชื่อมโยงแพทย์ไทยและต่างชาติ
เข้าหากัน ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระดับสากล นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับระบบสาธารณสุขไทย ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก และสร้างโอกาสในการพัฒนา องค์ความรู้ ตลอดจนนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ ๆ”

“นอกจากความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาการแล้ว ความพร้อมในการจัดงานระดับนานาชาติ ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน โรงแรมที่พัก เดสติเนชันที่ตอบโจทย์ทั้งการเข้าร่วมประชุมวิชาการและท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในที่ที่เดียว และความพร้อมของสถานที่จัดประชุม ล้วนเป็นเกณฑ์
ที่คณะกรรมการใช้พิจารณาเลือกสถานที่จัดงานทั้งสิ้น สำหรับศูนย์ฯ สิริกิติ์ มีความทันสมัย มีพื้นที่รองรับการประชุมรูปแบบต่าง ๆ และผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก เดินทางสะดวกสบาย และทำเลใกล้สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ” ศ. นพ.สุเทพ กล่าวเสริม

โดยภายในงาน FNM 2024 จะประกอบไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. การบรรยายความรู้ เกี่ยวกับโรค หรือภาวะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ทางเดินอาหาร และการเคลื่อนไหว (Postgraduate course)
  2. การนำเสนอผลงาน และบรรยายทางวิชาการ จากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลก โดยมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับอาหาร จุลินทรีย์ในลำไส้ และภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบทางเดินอาหาร และสมอง (Disorders of gut brain interaction)
  3. การนำเสนอผลงานวิจัย จากนักวิจัยจากสถาบันชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งในรูปแบบ การบรรยายในห้องประชุม และนิทรรศการ

ด้าน สุรพล อุทินทุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวว่า “ศูนย์ฯ สิริกิติ์ รู้สึกภูมิใจที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชื่อให้กับวงการแพทย์ไทย ในด้านการจัดประชุมนานาชาติ และงาน FNM 2024 เป็นอีกหนึ่งงานที่ตอกย้ำความพร้อมของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ในการเป็นสถานที่จัดงานทุกรูปแบบทุกสเกล โดยเฉพาะงานประชุมวิชาการนานาชาติสำหรับคนจำนวนมาก มีรูปแบบ   ที่หลากหลาย และต้องการห้องเป็นจำนวนมาก เราหวังว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับความสะดวกสบายและได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการประชุมครั้งนี้ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์”

 

Skip to content