พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ สนับสนุนการต่อยอดเกษตรอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประสบผลสำเร็จวิจัยพัฒนา “ผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศีรษะจากสารสกัดส้มแขก” เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านเชื้อราที่มีสถิติพบเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น พร้อมตอบสนองนโยบายภาครัฐในการรณรงค์ประชาชนให้ใช้ยาอย่างสมเหตุผล และสนับสนุนการใช้ยาที่พัฒนาจากสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน เพื่อลดค่าใช้ยาด้านยาที่ไม่จำเป็นตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย และตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการพัฒนาต่อยอดเกษตรอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และบริบทของเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจของท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบันปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสำคัญของโลก คนไทยเสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวปีละ 38,000 คน คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจำนวนผู้เข้าบริการในโรงพยาบาลสำหรับโรคที่ไม่รุนแรงจะลดลง ประชาชนจะหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตนเอง รวมถึงเกิดกระแสตื่นตัวหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรซึ่งมาจากธรรมชาติและมีผลข้างเคียงน้อยเพิ่มขึ้น เนื่องจากการรักษาด้วยยาต้านเชื้อราเมื่อใช้เป็นระยะเวลานานจะเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย เช่น ระคายผิว ผิวแห้ง หรือผิวหนังอักเสบจากการแพ้ยา และเกิดการดื้อยาในผู้ป่วยบางคน
จากปัญหาดังกล่าว ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. จึงมีแนวคิดวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ปรับสมดุลผิวหนังจากส้มแขก ซึ่งเป็นพืชไม้ผลพื้นเมืองเกษตรอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคใต้ มีสรรพคุณรักษาโรคตามตำราแผนโบราณ ได้แก่ รักษารังแค เชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคกลากบนหนังศรีษะ และเชื้อราที่ก่อให้เกิดรังแคและโรคผิวหนังอักเสบบนหนังศรีษะ ทั้งนี้จากสถิติของสถาบันโรคผิวหนังในปี 2566 ระบุว่า โรคผิวหนังอักเสบบนหนังศรีษะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์สูงเป็นอันดับ 7 จาก 10 อันดับของผู้ป่วยทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีรายงานวิจัยที่พบว่า สารสกัดจากผลส้มแขกสายพันธุ์ Garcinia atroviridis ex T. Anders มีฤทธิ์ต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนัง (Trichophyton mentagrophytes, Trichophyton rubrum, Trichophyton tonsurans, Epidermatophyton floccosum, Microsporum canis และ Microsporum gypseum)
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ได้ศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศรีษะจากสารสกัดจากผลส้มแขก และฤทธิ์ทางชีวภาพอื่น ๆ เช่น ฤทธิ์ต้านอักเสบยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซต์ในเซลล์ผิวหนังชนิดแมคโคฟาจ RAW 26 และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และได้พัฒนา ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศีรษะจากสารสกัดจากผลส้มแขกในรูปแบบแฮร์โทนิค พร้อมศึกษาประสิทธิภาพต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศีรษะ โดยพบว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อรากลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Trichophyton mentagrophytes DMST 19735) และกลุ่ม Malassezia spp. (Malassezia furfur ATCC 14521 และ Malassezia sloofiae ATCC 96809) สามารถยับยั้งการผลิตสารสื่อการอักเสบชนิด TNF-alpha และ IL-6 ต่อเนื้อเยื่อผิวหนังจำลอง โดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อผิวหนังจำลอง Episkin Batch.No 23 RHE 174 รวมถึงศึกษาความคงตัวของผลิตภัณฑ์ ควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ และได้ดำเนินการยื่นจดอนุสิทธิบัตรเรื่อง สูตรและกรรมวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศีรษะจากสารสกัดส้มแขกเรียบร้อยแล้ว
วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคต้านเชื้อราก่อโรคผิวหนังบนหนังศีรษะจากสารสกัดส้มแขก สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภคและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตสมุนไพรสู่ระดับมาตรฐานสากล โดยมีต้นทุนหรือค่าถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต 300,000 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ call center โทร. 0 2577 9000 หรือที่ “วว. JUMP”
More Stories
วีเอชดี ส่ง เมอริช คอฟฟี่ ชิงตลาดกาแฟสุขภาพ 3.4 หมื่นลบ.
BDMS Wellness Clinic คว้ารางวัล CEO of the Year 2024 จาก Bangkok Post
SOLUX Clinic เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ตอกย้ำความสวยที่มีระดับ (พรีเมียม)