26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

“วราวุธ” รมว.พม. ปาฐกถาพิเศษ ย้ำ นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร ช่วยแก้ปัญหา ความท้าทายสังคมสูงวัย

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ที่ SCBX NEXT TECH สยามพารากอน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “The Rise of the Aging Society in Thailand” ในงาน DRIVE THE MOMENTUM STAY CURIOUS, BE OPEN ว่า ปัจจุบันประชากรโลกมีจำนวนทั้งหมด 8,200 ล้านคน ซึ่งเดิมเรากลัว Population Bomb ในแง่ของคนล้นโลก แต่ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับ Population Bomb กลับด้าน โดยคาดการณ์ว่า ประชากรโลกมีแนวโน้มหดตัว ซึ่งภายในปี 2568 ผู้สูงอายุทั่วโลกทั้งหมด 1,200 ล้านคน และคาดว่าผู้สูงอายุทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านคน ภายในปี 2593 การลดลงของประชากรอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง มีรายได้สูง ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของประชากร เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และอาจมีความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจ

นายวราวุธ กล่าวว่า สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ 1) สังคมสูงอายุ (Aging Society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด 2) สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อย 20 ของประชากรทั้งหมด และ 3) สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด โดยสถานการณ์โลก เอเชียและยุโรป เรียกได้ว่า เป็น Home ของผู้สูงอายุ โดยประเทศจีนมีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด ซึ่ง TOP 10 อยู่ในเอเชียถึง 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับที่ 17 มีผู้สูงอายุ 20.69% ของประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 28% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ใช้เวลา 45 ปี 69 ปี และ 115 ปี ในการเปลี่ยนจาก Aging society สู่ Aged society สิงคโปร์กับจีน ใช้เวลา 25 ปี ในขณะที่ไทยใช้เวลาแค่เพียง 19 ปีเท่านั้น และจะกลายเป็น Super aged society ภายในไม่เกิน 10 ปี

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับความท้าทายของประเทศไทย ไม่เพียงแต่การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่มีความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เกิดจากการลดลงของเด็กเกิดใหม่อยู่ในขั้นวิกฤต คือ อัตราการเกิดต่ำกว่าญี่ปุ่นและสิงคโปร์ อีกทั้งเด็กและเยาวชนมีผลิตภาพที่ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GNP น้อยลง และอีกไม่เกิน 10 ปี คนไทยส่วนใหญ่จะเผชิญกับสถานการณ์ “แก่ก่อนรวย” “รายได้หาย เงินออมหด หมดโอกาสทำงาน พานจะป่วย” และผู้สูงอายุจะอยู่ลำพังเพิ่มขึ้น อยู่ร่วมกับครอบครัวลดลง และวัยทำงานต้องดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการรับเบี้ยผู้สูงอายุ ในปี 2568 จะมีผู้สูงอายุถึง 12 ล้านคน และต้องใช้งบประมาณเกือบแสนล้านบาท

นายวราวุธ กล่าวว่า ในส่วนของเศรษฐกิจผู้สูงอายุ (Silver Economy) มีโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนเพิ่มขึ้น อาทิ Nursing home และผู้ดูแลผู้สูงอายุ, ที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ, การท่องเที่ยว, อุปกรณ์การแพทย์, ธุรกิจดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์, AI, เทคโนโลยี, Application ต่างๆ, ผลิตภัณฑ์อายุวัฒนะ,  การให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ในขณะที่ เศรษฐกิจใส่ใจ (Care Economy) มุ่งเน้นเรื่องการดูแล ซึ่งไทยมีจุดแข็งเรื่องทางการแพทย์ ซึ่งกระทรวง พม. ร่วม สสส. เริ่มทดลองในบริบทสังคมไทย ด้วยการดูแลกันในชุมชน สร้างเครือข่ายชุมชน สลับกันดูแล “โดยคนในชุมชน เพื่อชุมชน” หลักการเดียวกับธนาคารเวลา (Time Bank) อีกทั้งดำเนินโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน ด้วยการสร้างและพัฒนาศักยภาพผู้บริบาล เป็นกลไกการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทุกมิติในระดับพื้นที่ และสร้างรายได้ให้ผู้บริบาล (10,000 บาท/เดือน)

นายวราวุธ กล่าวว่า สังคมสูงวัยเป็นเรื่องของเราทุกคน ซึ่งกระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อน นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร ด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และ 5 มาตรการ โดยผ่านการเห็นชอบของ ครม. เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 67 ซึ่งประกอบด้วย 1) เสริมพลังวัยทำงาน 2) เพิ่มคุณภาพ และผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3) สร้างพลังผู้สูงอายุ 4) เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5) สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ทั้งนี้ ในส่วนของผู้สูงอายุ จำเป็นต้องเสริมสร้างพลังผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น การขยายโอกาสการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ การดูแลสุขภาพทั้งทางกายภาพและจิตใจ การพัฒนาทักษะทั้ง Upskill – Reskill เพื่อความสามารถในการนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ผู้สูงอายุ #สังคมผู้สูงอายุ #THEMOMENTUM #DRIVETHEMOMENTUMSTAYCURIOUSBEOPENSTAYCURIOUSBEOPEN

Skip to content