20 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

เมื่อทรัมป์กลับมา จะพาโลกและไทยไปทางไหน

โดย ฝ่ายวิจัยธุรกิจ  ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการ ค่อนข้างแน่ชัดว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนถัดไป โดยแนวนโยบายของทรัมป์ที่สำคัญ ได้แก่ (1) การค้า : เก็บภาษีสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 60% และประเทศอื่นเพิ่มเป็น 10% (2) การลงทุน : ดึงดูดการลงทุนกลับสู่สหรัฐฯ โดยใช้มาตรการจูงใจทางภาษี (3) นโยบายสีเขียว : อาจถอนตัวจากข้อตกลง Paris Agreement และอาจชะลอร่างกฎหมาย Clean Competition Act ซึ่งเป็นการเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง และ (4) การเมืองโลก : สนับสนุนอิสราเอลชัดเจน ซึ่งโดยรวมนโยบายของทรัมป์จะส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนต่อทิศทางการค้าการลงทุนโลกในหลายด้าน ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมรับมืออย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ในเบื้องต้น สามารถประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากแนวนโยบายของทรัมป์ ดังนี้

  • การค้า : ไทยได้ไม่คุ้มเสียจาก Trade War รอบใหม่ เนื่องจากโอกาสส่งออกสินค้าไทยไปแทนที่สินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ มีไม่มาก เพราะกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บภาษีใหม่ (ไม่เคยถูกเก็บจาก Trade War รอบแรก) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Consumer Goods เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เสื้อผ้า รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งไทยไม่ได้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าประเทศอื่น อาทิ เวียดนาม และเม็กซิโก นอกจากนี้ นโยบายของทรัมป์ยังอาจทำให้สถานการณ์สินค้าจีนทะลักเข้าไทยรุนแรงขึ้น จากการระบายสินค้าส่วนเกินของจีน โดยเฉพาะในกลุ่ม Consumer Goods ไปยังประเทศอื่น
  • การลงทุน : กระแสการย้ายไปลงทุนในประเทศที่วางตัวเป็นกลาง (Conflict-free Countries) ยังดำเนินต่อไป แต่อยู่ภายใต้ภาวะกดดันเพิ่มขึ้น เนื่องจากภายใต้การบริหารงานของทรัมป์มักดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ประเทศที่จีนย้ายฐานลงทุนไปผลิตสินค้าเพื่อเลี่ยงสงครามการค้าเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกใช้มาตรการทางการค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
  • นโยบายสีเขียว : กลไกการลดคาร์บอนโลกอาจสะดุด และส่งผลต่อการผลักดันเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทยทางอ้อม เนื่องจากการที่สหรัฐฯ อาจชะลอกฎหมาย Clean Competition Act ลดแรงกดดันต่อธุรกิจส่งออกไทยในการปรับตัวเพื่อลดคาร์บอน ซึ่งอาจมองเป็นมุมบวกของภาคธุรกิจได้ในระยะสั้น เนื่องจากไม่ต้องเร่งลงทุนเพื่อปรับตัว แต่ก็จะส่งผลเสียต่อการผลักดันเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของไทยในระยะถัดไป
  • ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง : สถานการณ์อาจยกระดับความรุนแรงได้ง่ายขึ้น เนื่องจากอิสราเอลจะกล้าดำเนินมาตรการทางทหารเชิงรุกมากขึ้นหลังรู้ว่าจะมีสหรัฐฯ คอยหนุนหลังอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจขยายวงความวุ่นวายในตะวันออกกลาง และจะส่งผลให้ราคาพลังงานและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับขึ้นรุนแรง
  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ : หวือหวาในระยะสั้น แต่จะเผชิญความเสี่ยงหลายด้านในระยะข้างหน้า โดยการมาของทรัมป์จะทำให้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% และทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นเพื่อขานรับนโยบาย แต่สหรัฐฯ อาจต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่จะตามมาหลังการขึ้นภาษีนำเข้า และทำให้ Fed อาจพิจารณาชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2568 นอกจากนี้ นโยบายลดภาษีจะขยายการขาดดุลงบประมาณให้เพิ่มขึ้นถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลา 10 ปี ซึ่งบั่นทอนเสถียรภาพทางการคลังและซ้ำเติมปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงถึง 122% ต่อ GDP (ปี 2566)
  • สถานการณ์ค่าเงินบาท : ผันผวนในทิศทางอ่อนค่า โดยในระยะสั้น เงินทุนมีแนวโน้มไหลกลับเข้าสหรัฐฯ เพื่อเก็งกำไรในตลาดหุ้นหลังรับรู้ผลการเลือกตั้ง ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทผันผวนในทิศทางอ่อนค่า อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป การชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2568 และปัจจัยทางเศรษฐกิจของไทย เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อาจทำให้ค่าเงินบาทกลับมาผันผวนในทิศทางแข็งค่าได้

เพื่อเตรียมรับมือกับทิศทางการค้า การลงทุน และการเมืองโลก ที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรักษาสมดุลระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน โดยเน้นการรักษาความเป็นกลางเพื่อให้ไทยสามารถรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับทั้งสองประเทศได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ภาคธุรกิจอาจต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยเน้นกลยุทธ์สำคัญ ดังนี้

  • รุกเข้าตลาดหรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนในประเทศที่เป็น Conflict-free Country ซึ่งได้ประโยชน์จากความขัดแย้ง เช่น อินเดีย และเวียดนาม ทั้งในแง่ของการค้าระหว่างประเทศ และการขยายการลงทุนไปยังประเทศดังกล่าว
  • ลดความเสี่ยงจากความผันผวนด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Foreign Exchange Forward Contract เพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงิน แม้ว่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าอาจทำให้ผู้ส่งออกบางส่วนเล็งเห็นถึงประโยชน์จากส่วนต่างค่าเงินดังกล่าว แต่การส่งออกที่เน้นการเก็งกำไรค่าเงินถือว่าเสี่ยงเกินไปในภาวะที่โลกต้องเผชิญความผันผวนสูงในปัจจุบัน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังควรพิจารณาการทำประกันการส่งออก (Export Credit Insurance) และประกันความเสี่ยงการลงทุน (Investment Insurance) เพื่อลดเหตุความไม่แน่นอนในประเทศคู่ค้าซึ่งอาจมีมากขึ้นจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มรุนแรงภายใต้การดำเนินงานของทรัมป์
  • รักษาแนวทางการดำเนินงานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการที่สหรัฐฯ อาจถอนตัวออกจากกลไกการลดโลกร้อน ยิ่งทำให้ประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย ต้องพยายามมากขึ้นในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือการดำเนินงานที่ลดคาร์บอนจะช่วยให้ธุรกิจสามารถรักษาตำแหน่งในห่วงโซ่อุปทานโลกยุคใหม่ได้มั่นคงยิ่งขึ้น

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะประกาศอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ พร้อมด้วยพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2568 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ในระหว่างนี้การติดตามประเด็นการเมืองสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ที่จะทยอยมีความชัดเจนมากขึ้นในระยะข้างหน้า

 

 

Skip to content