เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” (ACT NOW to end Violence against Women and Girls) โดยมีนางจตุพร โรจนพานิช รองปลัดกระทรวง พม. กล่าวรายงาน และการนำเสนอสารจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องในเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว ซึ่งมีนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และผู้แทนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมการคู่สมรสคณะรัฐมนตรี คุณสุรศักดิ์ เกิดจันทึก รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และที่ปรึกษาคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศในการกีฬา คุณสุกัญญา ประจวบเหมาะ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ คุณมิเกล่า ฟิลแบรน์-สตอเร่ ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย คุณชวาลี โอสถานุเคราะห์ นายกสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และ พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ รวมทั้งผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ศิลปิน ดารา นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน ที่ลานอัฒจันทร์ ชั้น LG อาคาร Siam Square One
จากนั้นได้เป็นประธานในพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติสำหรับบุคลากร หน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว จำนวน 19 รางวัล และมอบประกาศนียบัตรสำหรับผู้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว จำนวน 12 รางวัล เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจในการเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมในการสนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงทุกรูปแบบ อีกทั้งแสดงเจตนารมณ์รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ร่วมกับผู้แทนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และองค์กรระหว่างประเทศ นอกจากนี้ มีการเดินขบวนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2567 การแสดง Flash mob “คำดีๆ มีให้กัน” จากวงดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินวง Getsunova
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว และปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) รวมถึงปัญหาวิกฤตประชากร ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวง พม. ได้ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย 5 x 5 ฝ่าวิกฤตประชากร ซึ่งประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ และ 5 มาตรการ เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั่วถึง เป็นธรรม สำหรับการดำเนินการยุติความรุนแรง ได้ผลักดันนโยบายและมาตรการหลายด้าน เพื่อปกป้องและคุ้มครองทุกเพศ ทุกวัย โดยมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนฐานคิดและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ การเคารพในสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิเนื้อตัวร่างกาย การยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย และเร่งสร้างการรับรู้ให้คนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงสิทธิและประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน
กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี สอดรับกับมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” ซึ่งในปี 2567 กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์ฯ ภายใต้แนวคิด “สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” (ACT NOW to end Violence against Women and Girls) นับเป็นความร่วมมือกันในการรณรงค์ยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ เพื่อต้องการจะส่งสาร และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สังคมได้ตระหนักรู้ว่า ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาระดับสังคม ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และนับเป็นหนึ่งภัยเงียบของสังคม ที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย ทุกที่ ทุกเวลา และสามารถทิ้งรอยบาดแผล ทั้งทางร่างกายและจิตใจให้แก่ผู้ถูกกระทำโดยตรงแก่คนในครอบครัวของผู้ถูกกระทำ รวมถึงบุคคลและสังคมแวดล้อมก็ย่อมได้รับผลกระทบ
ในส่วนภูมิภาค สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ กำหนดจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ตลอดทั้งเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง “ACT NOW” เริ่มได้ทันที เริ่มที่ตัวเรา โดยการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว”ทุกรูปแบบ
กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ เป็นอีกก้าวหนึ่งของความพยายามในการรณรงค์ยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา และความร่วมมือของทุกภาคส่วน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพื่อที่จะร่วมกันผนึกกำลังในการยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคนเดินฝ่าวิกฤตครั้งนี้ จับมือไปด้วยกันอย่างแน่วแน่ ร่วมสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นจิตสำนึกและความคิด และลงมือทำในทันที ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวทุกรูปแบบ ทั้งนี้ ขอขอบคุณและขอแสดงความยินดีกับหน่วยงาน รวมถึงบุคลากรที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและใบประกาศนียบัตร ซึ่งร่วมสนับสนุนและส่งเสริมการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวเสมอมา รวมทั้งภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันแสดงพลังในวันนี้ ให้ทุก ๆ คนในสังคมได้ตระหนักร่วมกันในการสอดส่อง ดูแล และช่วยเหลือ เมื่อพบการกระทำความรุนแรง เพื่อให้สังคมมีความสงบสุข เข้มแข็ง และยั่งยืนตลอดไป
อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน พม. โทร. 1300 บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือแอปพลิเคชันไลน์ @esshelpme
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #รณรงค์ #ยุติความรุนแรง #สยาม #เด็ก #สตรี #ครอบครัว
More Stories
“วราวุธ“ รมว.พม. ชู ผู้บกพร่องทางการมองเห็น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ด้วยความสามารถ
กทพ. แจ้งปิดการจราจรชั่วคราวบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ
การเคหะแห่งชาติ เปิดลงทะเบียนจองสิทธิโครงการอาคารเช่าพักอาศัย จ.อุดรธานี (สามพร้าว) และจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหอย)