19 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) เปิดอบรมหลักสูตร “ก้าวสู่มืออาชีพผู้พิจารณาสินไหม ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ และประกันชีวิต”

บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัดร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) เปิดอบรมหลักสูตร “ก้าวสู่มืออาชีพผู้พิจารณาสินไหม ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ และประกันชีวิต” รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมกราฟ ถนนรัชดาภิเษก

นพ.สุธร ชุตินิยมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัด ร่วมกับ ดร.พัด ประภาวิชา คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ร่วมพิธีเปิดอบรมหลักสูตร “ก้าวสู่มืออาชีพผู้พิจารณาสินไหมประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพและประกันชีวิต”  รุ่นที่ 1 เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567

บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัด ผู้นำด้านบริการ Third Party Administration (TPA) ด้วยประสบการณ์มากกว่า 18 ปีในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพิจารณาการเบิกจ่ายสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันชีวิตและอุบัติเหตุ ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) พัฒนาหลักสูตร “ก้าวสู่มืออาชีพผู้พิจารณาสินไหมประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ และประกันชีวิต” ตั้งเป้าหมายพัฒนาทักษะ และองค์ความรู้ด้านการพิจารณาสินไหมทดแทนประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ สร้างความเข้าใจในหลักประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ ให้แก่ผู้สนใจในวงการประกันภัยและบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมปูแนวทางเสริมศักยภาพในวิชาชีพรับภาคธุรกิจประกันภัยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นพ.สุธร ชุตินิยมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัด กล่าวว่า “จากรายงานการเติบโตสมาคมประกันชีวิตไทย ในครึ่งแรกของปี 2567 ผลปรากฏว่ามีเบี้ยรับรวมกว่า 3.1 แสนล้าน หรือโตขึ้นประมาณ 3.8% สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบัน ประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องประกันสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มที่อัตราค่าบริการจะสูงขึ้นในทุกปี ทำให้ต้องเตรียมรับมือกับการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้น บริษัท บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ จำกัด จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) พัฒนาหลักสูตร “ก้าวสู่มืออาชีพผู้พิจารณาสินไหม ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ และประกันชีวิต” เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการประกันภัยให้แก่บุคลากรที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาสินไหมทดแทน ระหว่างสถานพยาบาลโรงพยาบาลกับบริษัทประกันภัย”

หลักสูตรที่ บลูเวนเจอร์ ทีพีเอ และ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ(ABAC) ร่วมกันพัฒนาขึ้นมานี้จะมีความเข้มข้นในเนื้อหาจากการอบรม 42 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ความรู้พื้นฐานด้านประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ และประกันชีวิต การตรวจสอบเอกสาร การประเมินความเสียหาย ตลอดจนการคำนวณค่าสินไหมทดแทนที่ถูกต้อง ควบคู่ไปกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล ทักษะการดูแลให้คำปรึกษา เพื่อผลลัพธ์คือการสร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าผู้เอาประกันภัย ด้วยความเชี่ยวชาญและมืออาชีพ

ด้าน ดร.พัด ประภาวิชา คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) กล่าวว่า “ในขั้นตอนของการเรียกร้องค่าสินไหนทดแทน เป็นกระบวนการที่ท้าทายและซับซ้อน ทั้งในแง่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ การร่วมมือกับทางบลูเวนเจอร์ ทีพีเอ ทางคณะพยาบาลศาสตร์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพยาบาล กระบวนการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในสาขาที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะมีองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในวิชาชีพได้เป็นอย่างดี ในทุกกระบวนการการเรียกร้องค่าสินไหมเพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับผลประโยชน์ตามสิทธิที่ซื้อความคุ้มครองไว้ และลดโอกาสความผิดพลาด จากการสื่อสารที่เข้าใจไม่ตรงกันระหว่างสถานพยาบาล ผู้เอาประกัน และ บริษัทผู้รับประกัน ส่งผลให้สถานพยาบาล โรงพยาบาลและบริษัทประกันภัยร่วมกันให้บริการได้อย่างราบรื่น สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ผู้ป่วย”

นพ.สุธร กล่าวทิ้งท้ายเพิ่มเติมว่า “หลักสูตรการอบรมในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างบุคคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาสินไหมทดแทน และเนื่องจากวิชาชีพนี้ยังไม่มีกฎหมายรับรองไว้โดยเฉพาะ จึงตั้งเป้าสนับสนุนและผลักดันบุคคลากรในสาขาอาชีพนี้ให้มีคุณวุฒิรับรอง พร้อมสร้างเครือข่ายผู้มีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาสินไหมทดแทน เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบวิชาชีพ รวมทั้งส่งเสริมด้านจรรยาบรรณ จริยธรรม ให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ พร้อมเป็นบุคคลากรอีกสาขาวิชาหนึ่งที่เป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต”

หลักสูตรก้าวสู่มืออาชีพผู้พิจารณาสินไหมประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพและประกันชีวิต มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านการประกันภัย ตลอดจนกระบวนการพิจารณาสินไหมทดแทนด้านการประกันอุบัติเหตุและสุขภาพให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และบริษัทประกันภัย โดยมีกำหนดการอบรม 42 ชั่วโมง  เรียนทุกวันอังคาร และพฤหัสบดี ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2567

Skip to content