26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

JPARK ฟันกำไร Q3/67 ที่ 91.50 ลบ. หลังบุ๊คส่วนต่างให้เช่า

รายได้ให้คำปรึกษาติดตั้งลดลง เหตุงานใกล้เสร็จพร้อมส่งมอบ

     “เจนก้องไกล” ทำกำไร Q3/67 ที่ 91.50 ลบ. หลังรับรู้กำไรให้เช่าช่วงพื้นที่เชิงพาณิชย์ ด้านธุรกิจที่ปรึกษาและติดตั้งรายได้ลด เหตุงานใกล้เสร็จพร้อมส่งมอบ ด้านรายได้รับจ้างบริหาร และให้บริการพื้นที่จอดรถทรงตัว

     นายสันติพล เจนวัฒนไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 91.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.30 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 312.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนปีที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 22.20 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทฯ มีรายได้รวมสำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 อยู่ที่ 122.19 ล้านบาท ลดลง 47.70 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 28.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 169.89 ล้านบาท

โดยล่าสุดบริษัทได้ดำเนินการเปิดให้บริการอาคารจอดรถกาญจนสุข และมีพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอาคารจอดรถดังกล่าวเป็นอาคารจอดรถความสูง 6 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 532 คัน และรถจักรยานยนต์ 72 คัน มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 20,265 ตารางเมตร โดยจัดเป็นพื้นที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ 4,266 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยร้านค้าชั้นนำที่เข้ามาเช่าพื้นที่กว่า 80 ร้านค้า ทำให้กำไรสุทธิที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว การที่บริษัทได้ให้เช่าช่วงพื้นที่อาคารจอดรถเพื่อนำไปพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ จึงทำให้บริษัทมีกำไรจากส่วนต่างระหว่างต้นทุนที่ปันส่วนแล้วสำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ (ประกอบค่าเช่าหลักที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าของที่ดินและค่าก่อสร้าง) กับยอดรวมค่าเช่าช่วงรับตลอด 30 ปี หลังจากพิจารณาตามหลักการของมูลค่าปัจจุบัน ทำให้เกิดกำไรส่วนต่าง 95.06 ล้านบาท ซึ่งต้องบันทึกเป็นกำไรทันทีตามหลักการบัญชี และหลังจากนี้ ตลอด 30 ปี จะทยอยรับรู้ค่าเช่าที่ได้รับในแต่ละเดือนเป็นรายได้ (recurring income) จนกว่าสัญญาจะสิ้นสุด โดยไม่มีต้นทุนทางตรงที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเช่าอีก เพราะถูกหักกลบไปแล้วกับกำไรส่วนต่างข้างต้นแล้ว ทั้งนี้ การนำพื้นที่มาพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์เหมาะสมและให้ประโยชน์ที่ยั่งยืนกว่าการพัฒนาเป็นที่จอดรถทั้งหมด โดยพิจารณาจาก market survey และ feasibility study ที่ทำไว้ การทำพื้นที่จอดรถ 500 กว่าคันเป็นจำนวนที่ได้กำไรสูงสุดต่อปริมาณการใช้รถยนต์ในบริเวณโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าและบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ ร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ยังช่วยสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้มาใช้พื้นที่จอดรถ และในทางกลับกันพื้นที่จอดรถก็ช่วยสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้มาจับจ่ายในร้านค้าพื้นที่เชิงพาณิชย์ ทำให้มีการใช้พื้นที่จอดรถมากขึ้น

ส่วนที่รายได้จากธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ หรือ CIPS ลดลง 45.93 ล้านบาท คิดเป็นลดลง 90.93% เนื่องจากงานโครงการรถไฟฟ้า  Smart Parking Management System และ Guidance System ที่บริษัทได้รับสัญญาจ้างมาในช่วงกลางปี 2566 ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ตามอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ หรือ Percentage of Completion นั้น ปัจจุบันเสร็จแล้วพร้อมส่งมอบ ทำให้รับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่ลดลง อันเป็นลักษณะปกติของงานประเภทโครงการ (project base) ที่ตอนต้นและตอนกลางของโครงการจะรับรู้ได้ที่เป็นเนื้อเป็นหนังได้มากกว่า

สำหรับรายได้จากธุรกิจรับจ้างบริหาร และให้บริการที่จอดรถอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในขณะที่บริษัทมีพื้นที่ที่ให้บริการเพิ่มขึ้นจาก 29,534 ช่องจอดในปีก่อน และขยายเป็น 38,466 ช่องจอดในปัจจุบันนั้น บริษัทก็มีการพิจารณาไม่ต่อสัญญาเก่าสำหรับบางพื้นที่ที่ไม่ทำกำไรอันเป็นผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นในธุรกิจบริการส่วนนี้สูงขึ้นในขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และตามที่ทราบกันว่า บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะขยายจำนวนช่องจอดเป็น 40,000 ช่องจอดภายในสิ้นปี 2567 นั้น บริษัทมีความมั่นใจว่า บริษัทสามารถทำตามที่ตั้งเป้าหมายไว้สำหรับปีนี้ได้อย่างแน่นอนและอาจจะทะลุเป้าด้วยซ้ำไป เนื่องบริษัทจะมีการเปิดหน่วยงานเพิ่มเติมในไตรมาสสี่

Skip to content