ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ผู้นำองค์กรจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตที่ดีกว่าสำหรับคนรุ่นต่อไป สำหรับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย บทบาทของเรามีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ ไม่เพียงแค่สนับสนุนลูกค้าให้เดินหน้าสู่การลดคาร์บอน (decarbonisation) แต่ยังต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงภายในเพื่อให้องค์กรและพนักงานเดินหน้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำด้วย
นางสาววาสินี ศิวะเกื้อ Country Function Head of Finance & Corporate Real Estate Services ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า “เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานโดยตรงส่วนใหญ่เกิดจากการซื้อไฟฟ้าในอาคารสำนักงาน เราจึงวางกลยุทธ์การลดคาร์บอนโดยเน้นการจัดการอาคารอย่างยั่งยืนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยสำหรับอาคารที่เราเป็นเจ้าของ อย่างอาคารยูโอบี พลาซา กรุงเทพ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคาร และอาคารยูโอบี เพชรเกษม เราได้ติดตั้งระบบอาคารอัจฉริยะ รวมถึงระบบไฟฟ้าอัจฉริยะและเครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้ค่าความเข้มข้นการใช้พลังงาน (EUI) ในปีที่ผ่านมาลดลงมาอยู่ที่ 139.4 kWh/m2 และ 142.1 kWh/m2 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาคารพาณิชย์ทั่วโลกที่ประมาณ 160-170 kWh/m2 ต่อปี และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทยที่ 219 kWh/m2 ต่อปี
ประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีขึ้นนี้สอดคล้องกับข้อกำหนดสำหรับการรับรอง Green Mark Platinum ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมโดยหน่วยงานการก่อสร้างและอาคารของสิงคโปร์ และแน่นอนรวมถึงอาคารยูโอบี สาทร (ซึ่งเดิมชื่ออาคารสาทรและกูดวูด) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงด้วย
นอกจากนี้ เรานำแนวคิดความยั่งยืนมาผสมผสานในการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สาขาต่างๆ ให้ได้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น สาขาแห่งใหม่ในระยองที่ออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีผิวภายนอกอาคารที่มีค่าการแผ่รังสีต่ำ (low emissivity) ซึ่งช่วยจัดการคุณภาพอากาศภายในสาขา ระบบปรับอากาศและระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้อากาศสะอาด เย็นสบาย และประหยัดพลังงาน และขณะนี้ เราเริ่มติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ณ อาคารยูโอบี เพชรเกษม และอาคารยูโอบี สาทร เมื่อโครงการติดตั้งในอาคารสำนักงานและสาขาที่เข้าร่วมโครงการเสร็จสมบูรณ์ เราจะสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เอง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าประมาณ 200 ตัน
เป้าหมายของเราคือให้อาคารสำนักงานและสาขาของยูโอบี รวมถึงการปรับปรุงอาคารต่างๆ ในประเทศไทย กลายเป็นต้นแบบสำหรับอาคารอื่นๆ ในอนาคต เพื่อเราจะได้มีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนของประเทศ”
เปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมในการจัดการขยะ
ควบคู่กับการลดคาร์บอนในอาคารสำนักงานและสาขา เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของขยะที่มีในชีวิตประจำวันและความสำคัญของขยะต่อคุณภาพชีวิตในกรุงเทพฯ เราจึงเชิญชวนพนักงานระดมความคิดในการรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการขยะที่สามารถปรับใช้ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ทำงานหรือที่บ้าน
โดยนับตั้งแต่ปี 2564 เราได้เปิดตัวโครงการ Waste to Wonder เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะให้พนักงาน นับตั้งแต่การลดการใช้ การซ้ำ รวมไปถึง การคัดแยกขยะและการรีไซเคิล ในปีที่ผ่านมา พนักงานได้ร่วมกันรีไซเคิลขยะกว่า 78,000 กิโลกรัม ซึ่งประกอบด้วยกระดาษ พลาสติก อลูมิเนียม แก้ว และขยะอาหาร
นอกจากนี้ เราติดตั้งเครื่องหมักปุ๋ยที่สามารถย่อยสลายขยะอินทรีย์ได้ถึง 20 กิโลกรัมต่อวันที่อาคารยูโอบี พลาซา กรุงเทพ และอาคารยูโอบี เพชรเกษม โดยปุ๋ยที่ได้จะนำไปใช้ในการจัดภูมิทัศน์ของธนาคารและมอบให้พนักงานที่ชอบทำสวน ปีนี้ เราได้ยกระดับโครงการ Waste to Wonder ด้วยกิจกรรม Race to Zero Waste ให้พนักงานแต่ละชั้นร่วมแยกขยะอย่างถูกต้องและลดปริมาณขยะทั่วไปที่ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบ ความพยายามของเราเริ่มเห็นผล ตั้งแต่เริ่มการแข่งขัน ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นต่อชั้นต่อเดือนลดลงและอัตราการรีไซเคิลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ผลลัพธ์ที่ได้จากการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ยูโอบี ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นองค์กรต้นแบบในการจัดการขยะในหมวดธนาคารโดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปีนี้เราเป็นเพียงธนาคารแห่งเดียวที่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ของกรุงเทพมหานครในการเป็น “องค์กรปลอดขยะ” เราภูมิใจที่เห็นพนักงานมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งให้ความร่วมมือในกิจกรรมด้านความยั่งยืนต่างๆ ขององค์กร พนักงานหลายคนเล่าว่าพวกเขารู้สึกได้ว่าตนเองสามารถจัดการขยะส่วนตัวและมีส่วนร่วมสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม ซึ่งเราเชื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะถูกนำไปปรับใช้ในครอบครัวของพนักงานด้วย
เปลี่ยนยานพาหนะขององค์กรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ยานพาหนะถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กร เราตั้งเป้าแทนที่ยานพาหนะทั้งหมดด้วยยานพาหนะไฟฟ้า (EVs) ภายในปี 2573 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากยานพาหนะของธนาคารเกือบร้อยละ 70 แม้ว่าการเปลี่ยนยานพาหนะจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขต 1 และเพิ่มขึ้นในขอบเขต 2 จากการซื้อไฟฟ้า แต่เราคาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานโดยตรงโดยรวมได้ถึงร้อยละ 9
การตัดสินใจนี้ไม่ได้มีเพียงเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการพร้อมเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดและการสนับสนุนจากภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศไทย แม้ว่าเราจะมีความก้าวหน้าบนเส้นทางสู่ความยั่งยืน แต่เราตระหนักดีว่าการลดคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องใช้เวลา ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นความจำเป็นทางธุรกิจด้วย เราขอเชิญชวนทุกบริษัทในประเทศไทยมาร่วมเดินไปกับเรา การเปิดรับแนวคิดลดคาร์บอนจะช่วยสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัท สังคม และโลกของเรา
More Stories
กรุงศรี แนะนำ Krungsri เซียน ASEAN ไขข้อสงสัยจากกูรูผู้รอบรู้อาเซียนตัวจริง ตัวช่วยกรุยทางธุรกิจไทยเติบโตไกลในอาเซียน
“BAM” ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0
ธนชาตประกันภัย และ ทีทีบี จัดโปรฉลองงานยี่เป็งเชียงใหม่