26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

อาการปวดศีรษะกับ COVID-19”

Article

อาการปวดศีรษะเป็นอีกหนึ่งอาการทางสมองและระบบประสาทที่สามารถพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 และ ผู้ที่ได้รับวัคซีน COVID-19 โดยอาจมีสาเหตุและความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป โดยในผู้ป่วยบางรายอาการปวดศีรษะอาจจะไม่รุนแรงและสามารถหายเองได้ แต่ในขณะเดียวกันผู้ป่วยอีกหลายคนอาจต้องการการตรวจวินิจฉัยและการรักษาเพิ่มเติม

          นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท (โรคปวดศีรษะและใบหน้า) ศูนย์สมอง รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าอาการปวดศีรษะเป็นอาการทางระบบประสาทที่เจอได้บ่อยในผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยสามารถพบผู้ป่วยที่มีอาการได้มากถึง 30% ส่วนใหญ่จะไม่เคยมีประวัติโรคปวดศีรษะมาก่อน และอาการปวดมักจะพบภายใน 7 วันแรกหลังจากการติดเชื้อ โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีความรุนแรงของอาการปวดปานกลางถึงมาก และมักจะไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวด หรือมีอาการปวดซํ้าหลังจากยาแก้ปวดหมดฤทธิ์ ลักษณะการปวดจะเป็นการปวดแบบบีบรัดที่บริเวณขมับ หน้าผาก รอบกระบอกตาทั้ง 2 ข้าง หรือปวดทั่วทั้งศีรษะ ซึ่งอาจจะพบลักษณะการปวดแบบปวดตุ๊บๆ คล้ายกับเส้นเลือดเต้นได้ ซึ่งการโน้มศีรษะไปด้านหน้า การไอ การจามและการออกแรงจะทำให้อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น ที่สำคัญอาการปวดสามารถเกิดขึ้นได้นานถึง 2 สัปดาห์ สาเหตุของอาการปวดศีรษะสามารถสันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดจากเชื้อไวรัสเข้าสู่สมองโดยตรง โดยผ่านปลายเส้นประสาทคู่ที่ 5 (trigeminal nerve) จากในโพรงจมูก ทำให้เกิดสัญญาณความปวดส่งมาที่ศีรษะ หรืออาจเกิดจากการที่เชื้อไวรัสไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างสารการอักเสบ (inflammatory cytokine) ซึ่งมีผลโดยตรงกับระบบนำความปวดในสมอง ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นมาได้

            ทั้งนี้เราสามารถแยกอาการปวดศีรษะที่เกิดจากการได้รับเชื้อ COVID-19 กับการปวดศีรษะด้วยสาเหตุอื่นได้ด้วยการสังเกตอาการที่เกิดร่วมด้วย เช่น ผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 นอกจากจะมีอาการปวดศีรษะแล้ว จะมีอาการเวียนศีรษะ มีไข้ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ไอ หอบเหนื่อย ปวดเมื่อย ถ่ายเหลว เจ็บขณะกลืน  อาจจะเกิดอาการแพ้แสง แพ้เสียงดัง คล้ายในผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนอีกด้วย และในผู้ที่เป็นโรคปวดศีรษะอยู่แล้ว จะมีลักษณะของอาการปวดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

อาการปวดศีรษะนอกจากจะเกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 แล้วยังสามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่รับวัคซีน COVID-19 ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งวัคซีนแต่ละชนิดจะมีรายงานอาการของผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไป ในผู้สูงอายุจะพบอาการข้างเคียงได้ตํ่ากว่าในผู้ที่มีอายุน้อย และการได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จะพบอาการข้างเคียงน้อยกว่าในเข็มแรก จากข้อมูลงานวิจัยในปัจจุบันพบว่า วัคซีนเชื้อตาย (CoronaVac) พบอาการปวดศีรษะหลังได้รับวัคซีน 6%-18.7% ส่วนวัคซีนชนิด viral vector (ChAdOx1 nCoV-19; AstraZeneca) พบอาการปวดศีรษะหลังได้รับวัคซีน 22.8%-29.3% และวัคซีน mRNA (BNT162b2; Pfizer) พบอาการปวดศีรษะหลังได้รับวัคซีน 39%-52%

Coronavirus vaccine – The medical concept. Ampoule and syringe. Copyspace. blue toning.

            โดยปกติแล้วถ้าเกิดอาการปวดศีรษะจากการได้รับเชื้อ COVID-19 หรือจากการได้รับวัคซีนอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ สามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลได้ ในกรณีที่รับประทานยาพาราเซตามอลแล้วยังไม่สามารถควบคุมอาการปวดได้ อาจต้องพิจารณาใช้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs หรือ NSAIDs) สำหรับผู้ที่เป็นไมเกรนและมีอาการปวดศีรษะไมเกรนกำเริบหลังได้รับวัคซีน แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ในกรณีที่ปวดศีรษะรุนแรงควรพิจารณาใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs หรือ ยากลุ่ม triptans

                ทั้งนี้ หลังจากการได้รับวัคซีน COVID-19 ถ้าอาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้นหรือไม่บรรเทาลงหลังจากการรับประทานยาแก้ปวด หรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่นเกิดขึ้นร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อหาสาเหตุของอาการปวดศีรษะที่อาจเป็นอันตราย รวมทั้งรักษาอาการปวดศีรษะอย่างเหมาะสม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รพ.กรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล Contact Center โทร. 1719

Skip to content