บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ผ่านการคัดเลือกจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 จำนวน 7 โครงการรวม 319 เมกะวัตต์ หนุนกำลังกำลังการผลิตพุ่งเป็น 1,800 เมกะวัตต์ พร้อมกางแผนธุรกิจปี 68 โตแกร่ง! รับดีมานด์การใช้ไฟฟ้าขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ฟาก “โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์”ประกาศเดินหน้าประมูลโครงการพลังงานทดแทนเพิ่ม เสริมศักยภาพรายได้และกำไรในอนาคต ปักหมุดรายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาท อานิสงส์จากธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง วางระบบด้านวิศวกรรม (EPC) และเทรดดิ้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ในปี 2568 เชื่อว่ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2567 เนื่องจากภาพรวมตลาดยังมีศักยภาพทั้งงานจากโครงการพลังงานทดแทนรอบใหม่ และงานของภาครัฐที่มีงบลงทุนด้านพื้นฐานเพิ่มเติมตามความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากประมาณการรายได้ปี 2567 ที่คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตตามเป้า 15% จากปีก่อน ซึ่งปัจจุบันถือว่าใกล้เคียงแล้ว หลักๆ การเติบโตยังคงมาจากการรับรู้รายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) และเทรดดิ้งอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ปี 2568 บริษัทฯ ตั้งเป้างานในมือจากธุรกิจ EPC ไว้ที่ประมาณ 4,500 ล้านบาท ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าวางเป้ากำลังการผลิตเติบโต 35% ใน 2 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มประมาณ 100-150 เมกะวัตต์ต่อปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่กว่า 1,500 เมกะวัตต์ โดยล่าสุดสำนักงานกกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 กำลังการผลิตที่เสนอขายรวม 2,145 เมกะวัต์ ซึ่งกลุ่มบริษัทย่อยที่ GUNKUL ถือหุ้นทางตรงผ่านบริษัท กันกุล วิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท กันกุล วัน เอ็นเนอร์ยี9 จำกัด ได้รับการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 319 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพลังงานลม 284 เมกะวัตต์ และโซลาร์กำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ โดยจะทยอย COD ตั้งแต่ปี 2570-2573 ส่งผลทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพิ่มเป็น ประมาณ 1,800 เมกะวัตต์ ซึ่งเป้าหมายของบริษัทฯ คือการมีเมกะวัตต์สะสมเพิ่มเป็น 2,000 เมกะวัตต์ในปี 2569 นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องอยู่หลายโครงการ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขณะที่โครงการพลังงานหมุนเวียนจำนวน 832 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าวินด์ฟาร์ม ที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปก่อนหน้านี้ จะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตั้งแต่ปี 2569-2573 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 38,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ยังมีเงินลงทุนเพียงพอ และปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนยังอยู่ในระดับต่ำ พร้อมรองรับการเติบโตในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง
“ตามที่ได้มีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้บริษัทในกลุ่มของ GUNKUL ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการขายสินค้าในระบบอุปกรณ์ไฟฟ้าและรับเหมาก่อสร้างจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมไปด้วยโดยเฉพาะงานรับเหมาก่อสร้างที่จะได้รับโอกาสทำสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังมองว่าในอนาคตหากประเทศไทยมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและต้องการมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น GUNKUL ก็ยังมีโอกาสในการที่จะเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้นรวมถึงภาคเอกชนที่ตอนนี้ก็หันมาใช้พลังงานจากโซล่าเซลล์เพิ่มมากขึ้นจึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจโซล่าห์ที่เป็น Private PPA ของ GUNKUL จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการที่บริษัทฯ ได้มาใหม่ถ้าอยู่ในกลุ่มหนึ่งเราสามารถเซ็นรับเงื่อนไขของสัญญา PPA ได้ภายใน 14 วันนับจากวันที่ประกาศจึงคาดว่าน่าจะเซ็นได้ภายในต้นปี 2568 หลังจากปีใหม่ ส่วนกลุ่มสอง คาดว่าจะสามารถเซ็นรับเงื่อนไขของสัญญาได้ภายใน 60 วัน หลังจากประกาศ เนื่องจากต้องมี Common Facilities Sharing ตามเงื่อนไขของการไฟฟ้าก่อน” นางสาวโศภชา กล่าวในที่สุด
More Stories
SUPER ปลื้ม! BBL สนับสนุนวงเงิน 1,485 ลบ. พร้อมเคลียร์หุ้นกู้ตามนัด! ตอกย้ำความเชื่อมั่นธุรกิจ เดินหน้าขยายโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทุกมิติ
กบน. ลดอัตราเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯ 40 สตางค์ ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันหน้าปั๊ม ช่วยบรรเทาผลกระทบประชาชน
สกนช. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้ารับการสรรหา “ผอ.สกนช.” คนใหม่