10 มกราคม 2025

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

BKA จ่อระดมทุน IPO 60 ล้านหุ้น รับดีมานด์บ้านมือสองฟื้น

เล็งยังมีบ้านมือสองรอตกแต่งจำนวนมาก  พร้อมสยายปีก สู่แพลตฟอร์ม “Property Tech” สร้างมิติใหม่ของคนอยากมีบ้าน

   กรุงเทพฯ –  บมจ.บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป หรือ BKA หนึ่งในผู้นำธุรกิจบ้านมือสองตกแต่งใหม่ ประกาศเดินเกมรุกธุรกิจบ้านมือสองตกแต่งใหม่ พร้อมอยู่ รับดีมานด์ตลาดบ้านมือสองคึก จ่อระดมทุนในตลาดเอ็ม เอ ไอ เสนอขาย IPO 60 ล้านหุ้น เล็งสร้างโอกาสการต่อยอดทางธุรกิจ และ สยายปีก สู่แพลตฟอร์ม “Prop Tech” ดึงนวัตกรรม AI และ Virtual Reality มาสร้างมิติใหม่ในการดูบ้านเสมือนจริงทางออนไลน์ 

นายพชร ธนวงศ์เกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BKA เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจให้บริการปรับปรุงบ้านมือสองเพื่อขาย (ธุรกิจบ้านแต่ง “Flipping”) ซึ่งเป็นการฝากขายบ้านมือสองพร้อมกับการปรับปรุงซ่อมแซมก่อนขาย ให้มีสภาพใหม่ พร้อมอยู่อาศัย ด้วยการออกแบบที่สวยงาม งานซ่อมแซมที่มีคุณภาพ พร้อมรับประกันผลงานและให้บริการหลังการขาย รวมทั้งดำเนินธุรกิจนายหน้าซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการรับฝากขายบ้านมือสอง (ธุรกิจบ้านฝาก) และ ธุรกิจซื้อบ้านมือสองมาปรับปรุงเพื่อขาย (ธุรกิจบ้านตัด) โดยมุ่งหวังที่จะเป็นตัวกลางในการให้บริการ แก้ปัญหา ของผู้ที่อยากขายบ้าน แต่ไม่มีเวลา ไม่มีความรู้ประสบการณ์ในการเตรียมบ้านให้มีความพร้อม ในขณะเดียวกันต้องการช่วย ผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยในทำเลที่ดี ด้วยงบประมาณที่เหมาะสม  เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจซื้อขายบ้านมือสองในประเทศไทย บริษัทฯ จึงพร้อมขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ ”เป็นผู้นำในธุรกิจบริการ ซื้อขายบ้านมือสอง และทรัพย์สินรอการขายของสถาบันการเงิน (NPA) ตกแต่งใหม่ ในประเทศไทย” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสามารถให้บริการ การซื้อขายบ้านมือสอง และ บริการรีโนเวทบ้าน ให้มีคุณภาพดี มีมาตรฐาน ครอบคลุมในประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานที่เป็นเลิศ การบริการหลังการขายที่ยอดเยี่ยม และความพึงพอใจให้กับทั้งลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

“สำหรับลักษณะการดำเนิน 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย  1. ธุรกิจบ้านแต่ง ในวงการบ้านมือสองเรียกว่า “Flipping” เจ้าของบ้านมือสองจะทำสัญญาฝากขายบ้านกับบริษัทฯ โดยยินยอมให้บริษัทฯ ทำการปรับปรุงบ้าน โดยบริษัทฯ จะวางเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่เจ้าของบ้านก่อนเข้าปรับปรุงบ้าน และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงทั้งหมด เมื่อบริษัทฯ ขายบ้านได้ เจ้าของบ้านจะได้รับเงินเฉพาะส่วนที่เป็นราคาขายบ้านตามสัญญาที่ได้ตกลงไว้กับบริษัทฯ ขณะที่บริษัทฯ จะได้รับส่วนต่างที่เหลือของราคาที่ผู้ซื้อรับซื้อบ้านกับราคาขายที่เจ้าของบ้านได้รับ  2. ธุรกิจบ้านฝาก บริษัทฯ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนขายบ้านมือสองตามสภาพเดิม ที่เจ้าของบ้านนำมาฝากขายไว้ โดยมีรายได้จากค่านายหน้าตามที่ตกลงกันเมื่อขายบ้านหลังนั้นได้  และ 3. ธุรกิจบ้านตัด บริษัทฯ ซื้อบ้านมือสองมาทำการปรับปรุงเพื่อขาย ซึ่งได้มาจากการประมูลหรือซื้อโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์สิน โดยการทำธุรกิจบ้านตัดนี้ บริษัทฯ จะรับซื้อบ้านมือสองเฉพาะเมื่อสามารถซื้อได้ในราคาที่ดีเท่านั้น เพื่อให้มีอัตรากำไรที่ดี” และด้วยความมุ่งมั่นสู่การขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้และโอกาสการเติบโต   ในอนาคต ส่งผลให้บริษัทฯ วางกลยุทธ์สู่การขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ ได้แก่

  1. กลยุทธ์การสร้างตราสินค้า โดยมุ่งเน้นที่จะเป็นศูนย์รวมบ้านมือสองตกแต่งใหม่ พร้อมอยู่  ภายใต้การให้ความสำคัญต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการทั้งก่อนและหลังการขาย เพื่อสร้างการจดจำและ ความแข็งแกร่งกับตราสินค้า 2. กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์และบริการที่ดี โดยบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกบ้านมือสองเพื่อนำมาปรับปรุงตกแต่งใหม่ รวมทั้งพิจารณารูปแบบบ้าน และการปรับปรุง ให้มีฟังก์ชั่น การใช้งานอย่างครบครัน ภายใต้แนวความคิดการใช้ชีวิตจริงของผู้อยู่อาศัย เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด  3. กลยุทธ์ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในด้านทำเลที่ตั้งและระดับราคา ให้ลูกค้ามีตัวเลือกจำนวนมากตามความต้องการที่หลากหลาย  4. กลยุทธ์การรับประกันบ้านมือสองตกแต่งใหม่ ตามเงื่อนไขรายการรับประกันที่บริษัทฯ กำหนด สูงสุดถึง 6 เดือน และ  5. กลยุทธ์การสื่อสารทางการตลาดผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้และการเข้าถึงของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเนื้อหาข้อมูลที่สร้างความรู้และ       ความน่าสนใจให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านมือสอง และพัฒนาไปสู่การเป็นลูกค้าตัวจริงให้มากที่สุด

บริษัทฯ ในฐานะ ผู้ให้บริการในธุรกิจบ้านมือสอง  เชื่อว่าตลาดบ้านมือสองมีแนวโน้มการเติบโต ได้อย่างยั่งยืน โดยเล็งเห็นถึงข้อได้เปรียบของบ้านมือสองในทำเลเดียวกันกับบ้านโครงการใหม่ ที่มีราคาถูกกว่า และพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่า เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอดของราคาที่ดินในทำเลที่มีศักยภาพ การเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างและค่าแรง ทำให้ราคาบ้านโครงการใหม่ปรับตัวสูงขึ้นมาก และมีช่องว่างของราคา
(Gap Price) ที่กว้างขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับราคาบ้านมือสอง ประกอบกับโครงการบ้านจัดสรรใหม่ๆ มีทำเลที่ตั้งที่ไกลออกไป เนื่องจากที่ดินเปล่าผืนใหญ่ใกล้เมืองหาได้ยากขึ้น ในขณะที่บ้านมือสองส่วนใหญ่มีทำเลดี ราคาถูกคุ้มค่ากว่าบ้านโครงการใหม่ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น โดยบริษัทฯ เน้นการทำธุรกิจบ้านแต่งเป็นหลัก เนื่องจากเป็นบ้านมือสองตกแต่งใหม่ที่ใช้เงินลงทุนต่ำแต่ให้ผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับการซื้อบ้านมาปรับปรุงเพื่อขาย (บ้านตัด) อีกทั้งบริษัทฯ พิจารณาว่าตลาดยังมีศักยภาพการเติบโต และยังไม่มีคู่แข่งรายใหญ่ในตลาด

บริษัทฯ มองว่าภาคอสังหาฯ โดยเฉพาะตลาดบ้านมือสองเริ่มฟื้นตัว โดยเห็นได้จากกำลังซื้อผู้บริโภค ที่เริ่มกลับมาคึกคัก เมื่อเทียบกับปี 2566 สอดรับศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ที่ระบุว่าตัวเลขตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบใน 9 เดือนแรกของปี 2567 พบการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพฤติกรรมผู้บริโภค โดยบ้านมือสองได้รับความนิยมสูงถึง 71% ของจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 52% ของมูลค่าการโอนรวม ซึ่งเป็นผลจากราคาที่ดินและต้นทุนค่าก่อสร้าง ที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่บ้านมือสองมีราคาต่ำกว่าบ้านสร้างใหม่ ภายใต้ขนาดและทำเลเดียวกัน โดยราคาเฉลี่ยของการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่อยู่ที่ 4.87 ล้านบาท ขณะที่บ้านมือสองราคาเฉลี่ยของการโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 2.16 ล้านบาท ซึ่งการเติบโตของตลาดบ้านมือสอง สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้บริโภคที่ต้องการที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้

นางนิสาภรณ์ ฤกษ์อร่าม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า บมจ.บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป หรือ BKA ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ต่อประชาชนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) แล้ว  และอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ปัจจุบัน BKA มีทุนจดทะเบียน 105 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 210 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 75 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 150 ล้านหุ้น โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.57 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขาย IPO ในครั้งนี้

สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุน บริษัทฯ จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานเพื่อขยายการเติบโตของบริษัทฯ จากการขยายพอร์ตการให้บริการบ้านแต่ง (Flipping) เพิ่มขึ้นเป็นหลัก รวมถึงนำไปพัฒนาธุรกิจ Property Technology (Prop Tech) โดยสร้าง Platform ตัวกลางในการซื้อขายอสังหาฯ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งผู้ต้องการซื้อและขายบ้านได้หลากหลายและมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาข้อมูลให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน และเทคโนโลยีระบบเสมือนจริง (Virtual Reality) มาใช้ในการแนะนำบ้านให้กับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านได้เห็นภาพบ้านเสมือนจริงทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีแผนชำระคืนเงินกู้ยืมจากบุคคลอื่นทั้งจำนวน

Skip to content