10 มกราคม 2025

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

Thai SCP ร่วมกับ ภาครัฐเอกชน ประชาสังคม  หนุนการผลิตและการบริโภคยั่งยืน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ

กรุงเทพฯ – เครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน แห่งประเทศไทย (Thai SCP) ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และพันธมิตรจัดการประชุมวิชาการประจำปี ภายใต้หัวข้อ SCP Implementation through Decarbonization and Multistakeholder Partnership” ในวันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ  โดยมุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจ ระดมความคิดเห็น และส่งเสริมความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ตามแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560-2580  การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์  สนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของประเทศไทย พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา นายกสมาคมและประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย และคุณโกเมศ พุทธสอน รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมเปิดงาน

โดยดร.วิจารย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ก้าวต่อไปของประเทศไทยกับการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน” ว่าปัจจุบัน โลกใช้ทรัพยากรเกินขีดความสามารถกว่า 1.7 เท่า ขณะที่ประเทศไทยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่กว่า 85% ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรง โดยรายงานของ World Economic Forum ระบุว่าความเสี่ยงใหญ่ในอีก 10 ปีคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแปรปรวนสภาพอากาศสุดขั้ว การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหามลพิษ และความล้มเหลวในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 19 ต่ำกว่า 1% แต่ถูกจัดลำดับให้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับ 9 จึงตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี ค.ศ.2030 มุ่งสู่ Carbon Neutrality ในปี ค.ศ.2050 และ Net Zero ในปี 2065 โดยเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดปัญหาขยะ เช่น การจัดการพลาสติกครบวงจร ส่งเสริม Extended Producer Responsibility (EPR) และการพัฒนา waste hub เพื่อสร้างความยั่งยืนในทุกภาคส่วน เครือข่ายการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thai SCP Network) ก่อตั้ง เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยมุ่งลดการใช้ทรัพยากร ลดมลพิษ และสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้แผน SCP ปี 2017-2037 ซึ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการของเสีย และการส่งเสริมวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อช่วยลดต้นทุนและสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้ผลิต ลดสารพิษสำหรับผู้บริโภค และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมความสำเร็จของเครือข่ายมาจากการสนับสนุนของผู้นำ ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรภาคี แต่ยังเผชิญความท้าทายในการดึงคนรุ่นใหม่เข้าร่วมและพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์เป้าหมาย SDGs ในระยะยาว

นอกจากนี้ ภายในงานยังเพียบพร้อมด้วยวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร นักวิชาการ อาทิ Dr. Mushtaq Memon, Regional Coordinator UNEP Asia Pacific Regional ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และตัวแทนจากหน่วนงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอีส์สปริง ประเทศไทย จำกัด บริษัท เบเคอร์ แอนด์ เม็คเค็นซี่ จำกัด ฯลฯ เพื่อนำเสนอแนวนโยบาย กลยุทธ์ และประสบการณ์ บทเรียนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างยั่งยืน รวมถึงการเปิดให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมขับเคลื่อนมาตรฐาน กลไกตลาด การจัดซื้อจัดจ้าง และกลยุทธ์การลงทุนสีเขียว ตลอดจนการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการลดภาวะโลกร้อน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มความยั่งยืนให้กับสังคมในอนาคต

Skip to content