12 มกราคม 2025

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

วว. พัฒนาชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าว ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย วทน.

    “ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่าในปี 2565 มีพื้นที่นาข้าวประมาณ 70 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 46 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่นาข้าวมากที่สุด รองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ

ซึ่งภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว จะก่อให้เกิดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ตอซัง และฟางข้าว โดยพบว่า พื้นที่นาข้าว 1 ไร่ จะมีปริมาณตอซังและฟางข้าว โดยเฉลี่ยปีละ 650 กิโลกรัม ดังนั้นเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกในรอบถัดไป ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องจัดการวัสดุเหลือใช้โดยวิธีการ ดังนี้

1) การเผาตอซังและฟางข้าว เป็นวิธีจัดการที่สะดวกและง่าย ค่าใช้จ่ายน้อย แต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางอากาศ โดยก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้น ทำให้เกิดการระคายเคือง และในระยะยาวก่อให้เกิดมะเร็งหรือโรคทางเดินหายใจ

2) การไถกลบตอซังและฟางข้าว เป็นวิธีการทางชีวภาพที่เกิดการย่อยสลายตอซังและฟางข้าวโดยจุลินทรีย์ในดิน ซึ่งเป็นการช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินให้น้ำซึมผ่านได้ในปริมาณที่เหมาะสม นำไปสู่การเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุและธาตุอาหารให้แก่พืช แต่อาจใช้ระยะเวลานานในการหมักเพื่อให้สามารถปลูกข้าวในรอบถัดไป

จากปัญหา ผลกระทบ และข้อจำกัดดังกล่าว ภาครัฐได้ส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการวัสดุเหลือใช้ เช่น การนำกลับมาใช้ใหม่ หรือไถกลบเพื่อให้เกิดการย่อยสลายโดยการใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา

โดยการเผาตอซังและฟางข้าว ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของประชาชน รวมถึงการทำนาข้าวในพื้นที่ จังหวัดปทุมธานี ที่มีพื้นที่นาข้าวมากกว่า 500,000 ไร่ (กรมพัฒนาที่ดิน, 2567) ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ทางการค้าสำหรับย่อยสลายตอซังข้าว โดยเบื้องต้นได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ทางการค้าเหล่านี้ เมื่อใช้แล้วหมดไปทำให้ต้องซื้อมาใช้ใหม่เมื่อจะทำการเกษตรในครั้งต่อไป นับเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่เกษตรกรประมาณ 100 บาทต่อไร่

ดังนั้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาและนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี เพื่อทำการศึกษาและพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดกิจกรรมการเผาตอซังข้าวของเกษตรกร

          ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว วว. โดย ห้องปฏิบัติการทดสอบการการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ (BioD) ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ ได้ศึกษาและพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ “BioD I วว.” ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าว รวมถึงการออกแบบชุดบ่มเลี้ยงฯ ที่มีระบบให้อากาศและระบบควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ สามารถผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ฯ “BioD I วว.” ได้อย่างต่อเนื่อง

โดยกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว “BioD I วว.” จะใช้ระยะเวลาประมาณ 5-10 วัน ทำให้ตอซังข้าวนิ่ม ไถกลบได้ง่าย และไม่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของข้าวและเป็นมิตรต่อระบบนิเวศ ในเบื้องต้นมีการนำไปใช้จริงแล้วมากกว่า 10 พื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี (ช่วงพฤษภาคมถึงกันยายน 2567)

ทั้งนี้กลุ่มจุลินทรีย์ “BioD I วว.”  สามารถนำไปใช้ได้ทุกพื้นที่ ตามความสะดวกและทรัพยากรที่มีอยู่ในมือของเกษตรกร เช่น ใช้โดรนในการฉีดพ่น ใช้ถังฉีดพ่น หรือละลายน้ำและขังน้ำไว้เพียง 7 วัน สามารถทำให้ตอซังและฟางข้าวนุ่ม เปื่อยยุ่ย ไม่ติดล้อรถที่มาตีนาในขั้นตอนเตรียมดิน โดยลักษณะของน้ำในแปลงนาที่หมักด้วยจุลินทรีย์ชนิดนี้ จะมีสีฟางข้าว ไม่มีกลิ่นเหม็น โดยรวมจะใช้เวลาน้อยกว่าการขังน้ำโดยไม่มีการเติมจุลินทรีย์ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเริ่มการทำนาได้เร็วขึ้นจากเดิม

จากผลสำเร็จของการพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว “BioD I วว.” และการออกแบบชุดบ่มเลี้ยงฯ ของ วว. ได้นำไปสู่การขยายผลเป็นโครงการบริการวิจัยให้แก่บริษัท อาปิโก ฟอร์จจิ้ง จำกัด (มหาชน) ในการจัดสร้างชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าวจำนวน 15 ชุด เพื่อติดตั้งในพื้นที่ของวิสาหกิจชุมชนของจังหวัดปทุมธานีทั้ง 7 อำเภอ ได้แก่  1) ศูนย์ข้าวชุมชน หมู่ 1 ต.บึงบา อ.หนองเสือ  2) ข้าวกล้อง ต.สวนพริกไทย อ.เมือง  3) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว  4) เกษตรใบเขียว ต.บึงคอไห อ.ลำลูกกา 5) นาแปลงใหญ่ข้าวคลองสี่ อ.คลองหลวง  6) ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงบ้านสวนพันธุ์ผัก ต.คลองควาย อ.สามโคก  และ 7) กลุ่มนาแปลงใหญ่ ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี

โดยชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ฯ จำนวน 15 ชุดนี้ จะใช้สำหรับผลิตหัวเชื้อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรนำไปขยายต่อ เพื่อใช้จัดการตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยวทดแทนการเผา ซึ่งคาดว่าสามารถรองรับการทำนาปรังได้ไม่ต่ำกว่า 168,000 ไร่ต่อปี รวมถึงมีการจัดอบรมให้ความรู้และฝึกปฏิบัติวิธีการขยายหัวเชื้อ เพื่อให้เกษตรกรกรสามารถนำไปใช้งานได้เองในพื้นที่ โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการฝึกอบรมฯ รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 840 คน ตลอดระยะเวลาดำเนินงานโครงการฯ 1 ปี นับเป็นการกระจายองค์ความรู้และแนวทางการใช้ประโยชน์ไปสู่ชุมชนได้ทั่วถึง ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคการเกษตรสามารถจัดการและแก้ไขปัญหาการเผาตอซังข้าวได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

วว. คาดการณ์ว่า การใช้หัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังข้าว “BioD I วว.” จะทำให้เกษตรลดการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวลงได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และปรับเปลี่ยนกลุ่มเกษตรกรที่เคยเผาตอซังข้าวก่อนไถกลบให้มาทดลองใช้กลุ่มจุลินทรีย์คัดเลือกเพื่อย่อยสลายตอซังข้าวก่อนไถกลบแทนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

          ทั้งนี้ วว. ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรชุดบ่มเลี้ยงหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังข้าวเรียบร้อยแล้ว และพร้อมให้คำแนะนำปรึกษาแก่วิสาหกิจชุมชน พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย  เพื่อการสนับสนุนให้ภาคการเกษตรลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ call center  โทร. 0 2577 9000 หรือที่ระบบบริการลูกค้า “วว. JUMP”

Skip to content