อพท. ผุดแคมเปญ ส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์วิถีใหม่ “สุข โข ใจ ออนไลน์ ออนทัวร์” ประเดิมพาทัวร์ในรูปแบบเสมือนจริงผ่านช่องทางออนไลน์แล้ววันนี้ ไลฟ์สดผ่าน FB Live YouTube Clip Video หวังสร้างเป็นโครงการต้นแบบ ยกระดับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ตอกย้ำเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อพท. ได้นำเทคโนโลยี มาพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ รองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่เป็นไปตามนโยบายที่ได้รับมอบจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ทุกหน่วยงานราชการนำนวัตกรรม หรือเทคโนโลยี มาปรับใช้เป็นหนึ่งเครื่องมือของการทำงาน และการพัฒนายกระดับขีดความสามารถให้กับชุมชนและท้องถิ่น เพื่อตอบรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง จึงได้นำร่อง มอบให้สำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 หรือ อพท.4 จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกอยู่แล้วในขณะนี้ ได้พัฒนากิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์วิถีใหม่ “สุข โข ใจ ออนไลน์ ออนทัวร์ : Sukho Jai Local Virtual Tour” เป็นการจัดการนำเที่ยวเสมือนจริง โดยชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว หรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวและนำชมกิจกรรมเส้นทางการท่องเที่ยวในรูปแบบออนไลน์ ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ (Local Virtual Tour) เช่น Facebook live, Youtube, Clip Video เป็นต้น เริ่มเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่สนใจ ผู้ที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้าน หรือ Work From Home ได้เที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนแบบเสมือนจริง โดยชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่จะไลฟ์สด ทุกวันๆละ 3-4 กิจกรรม ตลอดเดือนตั้งแต่วันนี้ไปถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 หรือดูย้อนหลังได้ตลอดไป ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะเป็นต้นแบบ และเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่พิเศษอื่นๆ
“การจัดเที่ยวแบบเสมือนจริงนี้ ถือเป็นการยกระดับชุมชน ผู้ประกอบการ ให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะและประสบการณ์ ในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้เพื่อให้เกิดการรับรู้ด้วยการนำเสนอของดีในพื้นที่ กิจกรรมการท่องเที่ยว การบริการของชุมชนและพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ซึ่งแม้จะยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในช่วงเวลานี้ แต่ก็สามารถสร้างกระแสให้เกิดการวางแผนเดินทางได้เมื่อจบการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสให้ชุมชน ผู้ประกอบการ นำเสนอของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์ชุมชน เกิดการสั่งซื้อในโอกาสต่อไปอีกด้วย” ผู้อำนวยการ อพท. กล่าว
สำหรับผู้ให้บริการในแคมเปญครั้งนี้ ประกอบด้วย แหล่งท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดสุโขทัย (CBT) แหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดสุโขทัย (CT) ผู้ประกอบการด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เครือข่ายผู้พัฒนา ผู้ออกแบบ ผู้ผลิตผลงานศิลปะเชิงสร้างสรรค์ มีกลุ่มเป้าหมายให้ประชาชนทั่วไป นักท่องเที่ยวผู้สนใจเข้าร่วมชมกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะที่ชุมชน และผู้ประกอบการ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยังสามารถจัดแพ็กเกจและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้วยตนเองในแต่ละช่วงเวลาให้นักท่องเที่ยว ผู้สนใจ ได้ชื่นชมสถานที่และกิจกรรมแบบเสมือนจริง ทั้งในรูปของการพาทัวร์โบราณสถาน ทำงานศิลปะ เช่น การเขียนลายสังคโลกบนผืนผ้า พาไปเรียนรู้วิถีชีวิต และงานหัตถกรรมต่างๆ เช่น การย้อมสีฝ้ายด้วยธรรมชาติ รวมไปถึงพาไปชิมอาหารพื้นถิ่น ขนมหม้อแกงเตาโบราณ กล้วยน้ำว้าแปรรูป ขนมข้าวโค้ง เป็นต้น
***ผลลัพท์ทางอ้อม ชุมชนได้ขายของ***
อพท. คาดว่ากิจกรรมดังกล่าว จะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว มาร่วมสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวในรูปแบบวิถีใหม่ ที่ช่วยลดความเครียด ฟื้นฟูจิตใจของคนไทยในช่วงเวลานี้ เพื่อเป็นกำลังใจให้กันและกัน นำมาซึ่งการอุดหนุนซื้อสินค้าชุมชน สินค้าที่ระลึกผ่านระบบออนไลน์เช่น Shopee Lazada เป็นต้น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการรับรู้แนวทางการพัฒนาท่องเที่ยวในจังหวัดสุโขทัยในพื้นที่มรดกโลก ที่นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ กับชุมชน ผู้ประกอบการ ในแพ็กเกจหรือกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง ในรูปแบบ Toolkit, DIY Box Set ปัจจุบันมีร้านค้าชุมชนนำร่อง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สุนทรีผ้าไทย 2.โมทนาเซรามิกและศิลปะสร้างสรรค์ 3.โรงนาบ้านไร่ นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยคิดราคาจากต้นทุน วัสดุอุปกรณ์ ค่าสอน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ อพท. พัฒนาโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านการส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อความยั่งยืนของชุมชน ในการเตรียมความพร้อมรองรับการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง
***ยกระดับชุมชน ตอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี***
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าว เป็นการดำเนินงานตามแผนงานด้านการพัฒนาและยกระดับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ 4 อพท. จังหวัดสุโขทัย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้การจัดการการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และวัฒนธรรม มุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงองค์ประกอบของเมืองสร้างสรรค์
เพื่อส่งเสริม ขับเคลื่อน และตอกย้ำการท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัยเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดยเสริมสร้างศักยภาพให้กับชุมชนในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวจากทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีชีวิต ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงรับประโยชน์จากการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน
“การดำเนินงานของ อพท. จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นสร้างความหลากหลายทางการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม รวมถึงการขับเคลื่อนจังหวัดสุโขทัยสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ขององค์การยูเนสโก UNESCO ซึ่งสุโขทัยเป็นเครือข่ายอยู่ ตามรายละเอียด Membership Monitoring Guidelines
นอกจากนั้นยังก่อเกิดการพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เกิดความตระหนักในการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UCCN) โดยการนำวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์มาเป็นองค์ประกอบและกลไกสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และความยั่งยืนของชุมชน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดสุโขทัยในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย
More Stories
Harley-Davidson® และ SINGHA® SODA MUSIC CONCERT 2024 ผนึกกำลังระเบิดความมันส์ครั้งยิ่งใหญ่
GUESS ตอกย้ำความเป็นผู้นำแฟชั่นแบรนด์ในใจคนไทย
เปิดประสบการณ์เยาวชนไทย จากสนามแข่งระดับโลก ใช้ทักษะรอบตัวทั้ง Hard Skill และ Soft Skill