ชวน SMEs เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
เอสซีจีร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภาคกลาง เปิดโรงงานบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ใน SCGP ผู้ให้บริการด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรเพื่อความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ให้ผู้ประกอบการ SMEs จากจังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร เพชรบุรี นครปฐม กว่า 80 คน ในโครงการ “Go Together เติบโตด้วยกัน สู่โลกยั่งยืน” ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยได้รับเกียรติจากนายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง เข้าร่วมเยี่ยมชมกิจการ โดยมี นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี นายศาณิต เกษสุวรรณ ผู้อำนวยการโครงการ Go Together นายภัควัต ภาษีผล Banpong Mill Director บริษัทสยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ใน SCGP และนายสุนทร ยงค์วิบูลศิริ ESG and Sustainability Director, SCGP พร้อมด้วยคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ ณ SCGP โรงงานบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
นายชนะ ภูมี กล่าวว่า “เอสซีจีดำเนินธุรกิจตามแนวทาง Inclusive Green Growth ที่มุ่งช่วยยกระดับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ด้วยการศึกษาจากตัวอย่างที่ เอสซีจีทำมาแล้ว และนำมาต่อยอดใช้ได้เลย การเปิดบ้านหรือโรงงานทั่วประเทศให้ SMEs มาดู เพื่อให้เห็นว่าโครงการอะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ในการลดคาร์บอน และยังช่วยลดต้นทุนได้อีก ซึ่งถือเป็นการลดความเสี่ยงเรื่องการใช้เงินลงทุนของ SMEs”
นายสุนทร ยงค์วิบูลศิริ กล่าวว่า “SCGP มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1) การใช้พลังงานเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ Biomass และวัสดุเหลือใช้จากการผลิต 2) ใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้ใช้พลังงานลดลง และ 3) ใช้วัตถุดิบมาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอน สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย”
ในครั้งนี้ ผู้ประกอบการได้ลงพื้นที่ศึกษาหน้างานจริง และเรียนรู้แนวทางบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ของ SCGP เช่น แนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การประยุกต์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และการใช้เทคโนโลยีและ AI สำหรับภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และตัวอย่างโซลูชันที่ผู้ประกอบการสามารถต่อยอดใช้งานได้ อาทิ
- กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากเศษวัสดุจากกระบวนการผลิตกระดาษ
- หุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์โดยอัตโนมัติ เพื่อลดอุบัติเหตุและเพิ่มประสิทธิภาพให้แผงโซลาร์
- สินค้าคาร์บอนต่ำ เช่น สินค้าที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานน้อย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถรีไซเคิลได้ ย่อยสลายเองได้ ที่เป็นประโยชน์สำหรับ SME สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในการผลิตสินค้าได้
โครงการ Go Together มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ร่วมศึกษากระบวนการบริหารจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนา ที่ยั่งยืนร่วมกันของอุตสาหกรรมไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย ช่วยผลักดันเงินทุนสนับสนุน Green Finance ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในภาพรวม สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน
More Stories
ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เปิดตัว Schneider Charge Pro
บางจากฯ คว้ารางวัลระดับสากล “Climate Action Leader”
TCMA ลงนาม MOU จัดตั้งภาคีเครือข่ายพันธมิตร Thailand CCUS ผนึกกำลังลดคาร์บอนสู่เป้าหมาย Net Zero 2050