Lifestyle
อพท. เตรียมยกระดับอีสานใต้ขึ้นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลระดับสากล นำร่องจังหวัดบุรีรัมย์ ผนึก 20 หน่วยงานร่วมขับเคลื่อน บรรจุในแผนพัฒนาของจังหวัด ตั้งเป้าให้นักท่องเที่ยวทุกเพศ วัย และทุกสภาพร่างกาย เลือกเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการเดินทาง
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงานในจังหวัดบุรีรัมย์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในพื้นที่ โดยมี นายอนันต์ ชูโชติ ประธานคณะกรรมการ อพท. (บอร์ด) เป็นประธาน ความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นการยกระดับแหล่งท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีมาตรฐานของอารยสถาปัตย์ในจังหวัดนี้ และในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ นำไปสู่มาตรฐานระดับสากลตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC)
โดยทุกฝ่ายจะร่วมกำหนดขอบเขตพื้นที่ต้นแบบและจัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายการพัฒนา โดยเน้นการออกแบบและพัฒนาด้านอารยสถาปัตย์ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ในพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของพื้นที่ต้นแบบก่อนขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ในเขตอีสานใต้
“ภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมมือกัน สร้างภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทาง หรือ Destination ที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการให้บริการการท่องเที่ยว ขยายกลุ่มเป้าหมายและเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวทุกสภาพร่างกาย ทั้งคนไทยและต่างชาติ มีโอกาสเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวอย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาเมืองด้านอารยสถาปัตย์ ทั้งในด้านการออกแบบ ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ และมีความพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี” ผู้อำนวยการ อพท. กล่าว
เบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายให้วนอุทยานเขากระโดงและแหล่งท่องเที่ยวในเขตเมืองบุรีรัมย์ เป็นต้นแบบพื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในเขตอีสานใต้ ที่รองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกสภาพร่างกาย และ อพท. ยังได้พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงจังหวัดใกล้เคียงและแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว เช่น เส้นทางบ้านตาลอง จังหวัดบุรีรัมย์ และศูนย์คชศึกษา จังหวัดสุรินทร์ และยังเตรียมที่จะส่งเสริมให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน พัฒนาอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ได้แก่ ป้ายสื่อสาร อาคาร ห้องน้ำวีลแชร์ ร้านจำหน่ายสินค้า ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โรงแรม ที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย โดยเฉพาะคนพิการและผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในจังหวัดบุรีรัมย์ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
สำหรับ 20 หน่วยงานซึ่งอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ ททท.สำนักงานบุรีรัมย์ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดบุรีรัมย์ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น
นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าชาวบุรีรัมย์เห็นคุณค่าและความสำคัญของอารยสถาปัตย์ ที่จะนำไปสู่การท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อคนทั้งมวลอย่างยั่งยืนต่อไป โดยจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเมืองท่องเที่ยวและกีฬาที่มีสีสัน มีมนต์เสน่ห์ และทรงพลัง มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญมากมาย เช่น ปราสาทหินพนมรุ้ง และวนอุทยานเขากระโดง ซึ่งมีอารยสถาปัตย์ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ สนามฟุตบอลช้างอารีนา เป็นสนามกีฬาที่มีอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล อีกทั้ง โรงแรมหลายแห่งมีอารยสถาปัตย์ มีห้องพักสำหรับมนุษย์ล้อที่สะดวกสบาย และปลอดภัย เป็นต้น ดังนั้นหากประชาชนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์ในแหล่งท่องเที่ยวและบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องจะเป็นการขยายตลาดและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจการท่องเที่ยวไปสู่คนทั้งมวลในระดับสากล โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มากในโลกยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความรับรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน ก่อนลงนาม MOU ในวันนี้ ยังได้จัดกิจกรรมสัมนาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านอารยสถาปัตย์และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมแลกเปลี่ยน อาทิ นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท. รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสิ่งแวดล้อมเพื่อทุกคน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสมศักดิ์ เต็มบัณฑิต ทูตอารยสถาปัตย์จังหวัดบุรีรัมย์ และกิจกรรมนำผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมเดินทางสำรวจเก็บข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่วนอุทยานเขากระโดง ศาลหลักเมืองจังหวัดบุรีรัมย์ สำรวจความพร้อมของโรงแรมที่พัก สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในพื้นที่ต้นแบบเป้าหมาย และสำรวจความพร้อมเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงจังหวัดใกล้เคียงและแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อนำข้อมูลไปวางแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบและพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในลำดับต่อไป
More Stories
Harley-Davidson® และ SINGHA® SODA MUSIC CONCERT 2024 ผนึกกำลังระเบิดความมันส์ครั้งยิ่งใหญ่
GUESS ตอกย้ำความเป็นผู้นำแฟชั่นแบรนด์ในใจคนไทย
เปิดประสบการณ์เยาวชนไทย จากสนามแข่งระดับโลก ใช้ทักษะรอบตัวทั้ง Hard Skill และ Soft Skill