25 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

จบต้นตอ ก่อนเกิดโรคไต

Article

ผู้ป่วยโรคไตในปัจจุบันมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกว่า 17.6 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการจบต้นต่อการเกิดโรคไต การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อไตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะไตไม่ได้มีหน้าที่แค่ขับถ่ายของเสียเท่านั้น แต่รวมถึงการรักษาสมดุลต่าง ๆ ของร่างกายด้วย เมื่อไตแข็งแรงก็จะมีสุขภาพที่ดีด้วย

พญ.นลินี สายประเสริฐกิจ แพทย์อายุศาสตร์โรคไต ศูนย์โรคไต รพ.กรุงเทพ

พญ.นลินี สายประเสริฐกิจ แพทย์อายุศาสตร์โรคไต ศูนย์โรคไต รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า คนเราจะมีไต 2 ข้างและทำหน้าที่ในการขับของเสียและดูดซึมน้ำ รักษาสมดุลเกลือแร่ กรดด่างของร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต ผลิตฮอร์โมนควบคุมการทำงานของเม็ดเลือด รักษาสมดุลแคลเซียมต่างๆ เพราะฉะนั้นหากไตมีปัญหา จะทำให้ไตเกิดความผิดปกติทั้งหมด โดยโรคไตแบ่งออกเป็นไตวายเฉียบพลัน และ ไตวายเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลัน คือ การทำงานของไตที่ผิดปกติในช่วงเวลาอันสั้น เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว แต่สามารถรักษาให้กลับสู่ภาวะปกติได้ ไตวายเรื้อรัง คือ ภาวะที่ไตมีความผิดปกติ ค่าการทำงานของไตต่ำลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง หรือมีระยะเวลานานกว่า 3 เดือน กลุ่มเสี่ยงในการเกิดโรคไต อาทิ คนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วจะมีความเสี่ยงเป็นโรคไตร่วมด้วย คนไข้ที่มีความดันโลหิตสูงจะสัมพันธ์กับไต เพราะไตเป็นอวัยวะที่เต็มไปด้วยหลอดเลือด เมื่อมีความดันโลหิตสูงจะส่งผลถึงไตโดยตรง ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน หรือ กลุ่มคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดต่างๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป เพราะอัตราการทำงานของไตลดลง กลุ่มคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไต ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่นถุงน้ำในไต เป็นต้น กลุ่มคนเป็นเกี่ยวกับโรคข้อ โรค SLE และนอกจากนี้จะเป็นผู้ป่วยที่มีประวัติการใช้ยา การได้รับสารพิษ

เมื่อไตทำงานลดลง ไม่สามารถทำงานได้ปกติ เกิดการเสื่อมสภาพลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเอง โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นหัวใจสำคัญในการชะลอไตวายเรื้อรัง  ช่วยควบคุมอาการและดูแลไม่ให้ไตทำงานหนักจนเกินไป โดยอาหารที่ควรระมัดระวังในการรับประทานคือ 1) เนื้อสัตว์ เพราะหากรับประทานมากจนเกินไปจะส่งผลเสีย ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นและเกิดการคั่งของของเสีย แต่หากรับประทานน้อยไปอาจสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ภูมิคุ้มกันตำลง เสี่ยงในการเสียชีวิตได้ 2) ข้าวและแป้ง อาหารกลุ่มนี้มีแหลงโปรตีนในปริมาณที่แตกต่างกัน อาจทำให้ผู้ป่วยไตเสื่อมระยะ 3-5 จำกัดการรับประทานโปรตีนได้ยาก ผู้ป่วยควรได้รับความรู้ในการเลือกกลุ่มแป้งที่ถูกต้องและปลอดภัย เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ และสาคู เพื่อให้การรักษาโรคไตเสื่อมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 3) ไขมัน ไขมันที่ดีคือไขมันไม่อิ่มตัวสูง ไขมันอิ่มตัวสูงพบในมันและหนังสัตว์ น้ำมันจากสัตว์ เป็นต้น 4) ผักและผลไม้ เเหล่งเเร่ธาตุที่มีความสำคัญมาก เเต่เมื่อไตสูญเสียความสามารถในการรักษาสมดุลเกลือเเร่บางตัว การเลือกรับประทานผักผลไม้ที่มีเเร่ธาตุต่ำจึงมีความสำคัญต่อการรักษาอย่างมาก ผลไม้กับผลที่ควรเลือกทานขึ้นอยู่กับ ระดับโพแทสเซียม เเมกนีเซียม เเคลเซียม เเละโซเดียมในเลือดขณะนั้น 5) เกลือ หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้ได้รับโซเดียมเกินความจำเป็น อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น 6) น้ำ ผู้ที่ไตขับปัสสาวะได้ลดลงมีความจำเป็นต้องจำกัดปริมาณน้ำดื่มเพื่อป้องกันภาวะบวมน้ำเเละน้ำท่วมปอด ปริมาณน้ำที่ควรดื่มในแต่ละวันจะนับรวมถึงอาหารทุกชนิดที่เป็นของเหลวเเละเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า ซุป น้ำผลไม้ น้ำผัก เป็นต้น

และไตเป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องดูแล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตต้องใส่ใจเป็นพิเศษ อยากให้ทุกคนตระหนักถึงโรคไตและป้องกันโรคไตด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารเค็มจัด หวานจัด ดื่มน้ำวันละ 8 – 10 แก้ว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ ตรวจคัดกรองไตอย่างน้อยปีละครั้ง สำหรับผู้ป่วยโรคไตควรพบแพทย์ตามนัดหมายและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคไต โรงพยาบาลกรุงเทพ  โทร.1719  แอดไลน์ : @bangkokhospital 

Skip to content