@ ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมและโรงงานแห่ใช้รูปแบบ Private PPA มั่นใจทั้งปีเกินเป้า 50 โครงการ
Business
เอแอลที รุกหนักธุรกิจบริการและติดตั้งแผงโซลาร์ รูฟท็อป เล็งเจาะกลุ่มลูกค้าบ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 2,000-3,000 บาท/เดือน เผยค่าติดตั้งอยู่ระหว่าง 1.5 -1.9 แสนบาท โดยลูกค้าเลือกระบบผ่อนชำระค่าติดตั้งได้ ขณะที่การให้บริการติดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมและโรงงานขนาดกลางในรูปแบบ Private PPA ก็มาแรง ล่าสุดปิดจ็อบแล้ว 9 โครงการ มั่นใจทั้งปีนี้ทะลุเป้า 50 โครงการ เผยติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อปมาแรง เหตุกระแสรักษ์โลก รวมทั้งเรื่องกฎเกณฑ์การส่งออกและคาร์บอนเครดิต ผสมสถานการณ์โควิดยืดเยื้อ ทำไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยน WFH เพิ่มขึ้น
นางสาวปรียาพรรณ ภูวกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เปิดเผยว่า กระแสตอบรับในการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาหรือ Solar Rooftop ดีมาก โดยล่าสุดบริษัทได้หันไปทำการตลาดในส่วนของบ้านที่อยู่อาศัยมากขึ้น ในกลุ่มที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 2,000-3,000 บาท/เดือน และมีการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันค่อนข้างมาก โดยค่าติดตั้งแผงโซลาร์ จะอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.9 แสนบาท
“คนให้ความสนใจติดตั้ง Solar Rooftop เพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันนี้ หลังเกิดโควิด-19 ไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไปมาก หันมาทำงานที่บ้านมากขึ้น รวมทั้งธุรกิจส่วนตัวเช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ออนไลน์ ก็ทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้การใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันจะมีปริมาณสูงขึ้น เหมาะที่จะติดตั้งแผงโซลาร์ ประกอบกับปัจจุบันค่าติดตั้งก็มีแนวโน้มถูกลงเรื่อยๆ ซึ่งบ้านที่อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 3 พันบาท หากติดตั้งแผงโซลาร์ขนาด 3 กิโลวัตต์ ค่าใช้จ่ายติดตั้งแค่ แสนบาทกว่าๆ เท่านั้น และสามารถคืนทุนได้ภายใน 6-7 ปี” นางสาวปรียาพรรณกล่าว
นอกจากนี้บริษัทยังได้ร่วมมือกับสถาบันการเงิน เพื่อทำเรื่องระบบผ่อนชำระค่าติดตั้งให้กับลูกค้ากลุ่มบ้านอยู่อาศัยที่สนใจติดตั้งแผงโซลาร์ด้วย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก และช่วยแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้า ซึ่งสามารถผ่อนชำระ 0 % ได้นานถึง 10 งวด
นางสาวปรียาพรรณกล่าวว่า ตัวแผงโซลาร์ฯ ที่บริษัทใช้ติดตั้ง เป็นแผงยี่ห้อ Q Cells มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง และประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องมากกว่า 25 ปี (ที่ 85%) อีกทั้งยังสามารถช่วยลดมลภาวะ และสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่ได้ มาใช้ หรือจำหน่ายเพิ่มเติมได้ โดยบริษัทจะรับประกันแผงโซลาร์ ขณะที่การให้บริการดูแลระบบนาน2 ปี โดยอายุการใช้แผงโซลาร์จะนานราว 25 ปี ซึ่งแผง Q Cells การันตีการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 85%
“เราใช้อินเวอร์เตอร์ของหัวเหว่ย ซึ่งเป็นระบบที่ดีมาก มีแอปพลิเคชั่นที่สามารถดูอัตราการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวันได้ว่าใช้ไฟฟ้าไปเท่าไหร่ และจะบอกให้เรารู้ว่าเราใช้ไฟจากโซลาร์ช่วงไหนมาก รวมทั้งแผงโซลาร์จะเริ่มผลิตไฟตั้งแต่กี่โมง ซึ่งปกติแล้ว 8.00-9.00 น.ก็เริ่มผลิตไฟแล้วและจะไปพีคสุดช่วงเที่ยง พอบ่ายๆ จะเริ่มลดลง”
นางสาวปรียาพรรณยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของการติดตั้งแผงโซลาร์ ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มโรงงานและอุตสาหกรรมขนาดกลาง ในรูปแบบ Private PPA ได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปีที่ผ่านมา จนถึงล่าสุดบริษัทได้ติดตั้งให้กับลูกค้าแล้วถึง 9 โครงการ ทำให้มั่นใจว่าทั้งปีนี้จะสามารถให้บริการและติดตั้งให้กับลูกค้า ในรูปแบบ Private PPA ได้ไม่ต่ำกว่า 50 โครงการ
รูปแบบ Private PPA (Private Power Purchase Agreement) นั้น ALT จะเป็นผู้ลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์ให้กับลูกค้า โดยมีข้อตกลงการซื้อขายพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้จาก Solar Rooftop ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่สนใจ เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งการลงทุนติดตั้ง และการดูแลรักษาระบบฯ ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการที่มีค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าต่อเดือนตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป และมีการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันมากกว่ากลางคืนถือว่าคุ้มค่ามาก ช่วยลูกค้าประหยัดค่าใช้ได้ไม่ต่ำกว่า 20% ต่อรอบบิล
นอกจากนี้แนวโน้มค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดในช่วงที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่ารัฐจะปรับขึ้นค่า FT อีก ก็ทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจที่จะติดตั้งแผงโซลาร์ ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเกณฑ์การพิจารณาเลือกลูกค้าที่ต้องการลงทุนในรูปแบบ Private PPA โดยในเบื้องต้น พิจารณาจากประวัติการใช้ไฟฟ้า ฐานะการเงินและแนวโน้มธุรกิจของลูกค้า เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ ติดตั้ง Solar Rooftop
“กระแสตอบรับการติดตั้งแผงโซลาร์ดีมากๆ เนื่องจากคนมีความรู้เรื่องพลังงานทางเลือกมากขึ้น ผสมกับเมกะเทรนด์ของโลกเปลี่ยนไป หลายๆ ประเทศกำหนด หรือมีกฎเกณฑ์ให้บริษัทที่จะส่งออกสินค้าต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น รวมทั้งเรื่องของคาร์บอนเครดิตด้วย ขณะที่รูปแบบPrivate PPA ก็ตอบโจทย์ลูกค้า ไม่ต้องลงทุนเอง แถมประหยัดค่าไฟฟ้า และพอครบสัญญา25 ปี ลูกค้าก็เป็นเจ้าของระบบโซลาร์เอง ”นางสาวปรียาพรรณกล่าว
ด้านนายธนุส บุญคง กรรมการบริหาร บริษัทลีลาลัม จำกัด กล่าวว่า บริษัทประกอบธุรกิจโรงเลื่อยไม้ยางพาราแปรรูปเพื่อส่งออกทั้งหมดไปยังประเทศจีน ลูกค้าหลักๆ เป็นโรงงานทำเฟอร์นิเจอรในประเทศจีน มียอดส่งออกเฉลี่ย 10 ล้านบาทต่อเดือน โดยค่าไฟฟ้าถือเป็นต้นทุนอันดับ 3-4 รองจากค่าแรง ใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 500,000-680,000 แสนบาท/เดือน
ส่วนความสนใจติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป เริ่มแรกมาจากหน่วยงานภาครัฐมาให้ความรู้และเชิญชวนให้ติดตั้ง เพื่อให้ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า รวมทั้งเป็นพลังงานสะอาด ซึ่งก็มีบริษัทหลายรายติดต่อเข้ามาที่จะให้บริการติดตั้ง บริษัทก็คัดเลือกเหลือ2 ราย โดยสาเหตุที่เลือกบริษัทเอแอลที เทเลคอม ส่วนหนึ่งเพราะมีคนรู้จักด้วย ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะใช้บริการ ขณะที่ทีมงานก็มีความเป็นมืออาชีพ ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งคาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้
“บริษัทฯ มองว่ารูปแบบ Private PPAเป็นรูปแบบที่ดี ต่างฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ทางบริษัทฯ ไม่ต้องลงทุนค่าใช้จ่าย ใด ๆ และได้รับผลตอบแทนในระยะยาว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สนใจ เพราะช่วยลดต้นทุนได้ ประมาณ 20-30% เป็นพลังงานสะอาดซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก” นายธนุสกล่าว
More Stories
แม่โขง ดันซอฟต์พาวเวอร์ค็อกเทลไทยสู่สากล ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 กับงาน Mekhong The Spirit Competition 2024
แม่โขง ดันซอฟต์พาวเวอร์ค็อกเทลไทยสู่สากล ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 กับงาน Mekhong The Spirit Competition 2024
เคอีเอ็กซ์ ยกระดับบริการเรียกรถเข้ารับพัสดุถึงบ้าน สร้างความสะดวกแบบใหม่