26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

“สมาคมการขายตรงไทย” พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เสริมความเชื่อมั่นให้ธุรกิจเครือข่าย

ขายตรง/MLM/ธุรกิจเครือข่าย

ความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐ โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. กับภาคเอกชนหลายฝ่าย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงการมีคุณธรรม จริยธรรม ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้บริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหลอกขายสินค้า หรือบริการได้

จะเห็นได้ว่าเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่หน่วยงานหลักอย่าง สคบ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชนหลายต่างร่วมแรงร่วมใจกันลดผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในอุตสาหกรรมขายตรง ที่มี 2 สมาคมขายตรงไทย ได้ผลักดันกฎหมายขายตรง และการคุ้มครองผู้บริโค และร่วมมือกับ สคบ. มาอย่างยาวนาน แต่สุดท้ายแล้ว การคุ้มครองผู้บริโภคยังไม่เกิดความสำเร็จมากนัก เพราะยังคงมีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงจากผู้ขาย หรือผู้ประกอบธุรกิจสีเทาอยู่ ขณะที่ธุรกิจที่กระทำผิด จะมีช่องโหว่ที่กฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้

ความพยายามล่าสุด จึงเกิดการบูรณาการความร่วมมือกันทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม ระหว่าง สคบ. นำโดย นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการ หรือ สคบ. พร้อมด้วย นายกิจธวัช ฤทธีราวี นายกสมาคมการขายตรงไทย / นายพงษ์กฤตย์ องค์ศิริวัฒนา นายกสมาคมอุตสาหกรรมขายตรงไทย / และนายสรโชติ อำพันวงษ์ นายกสมาคมทีวีโฮม ช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) MOU ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันของทั้ง 4 หน่วยงาน ในการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมมีความรู้ ความเข้าใจในบทบาทการประกอบธุรกิจ ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับ การคุ้มครองผู้บริโภคให้กับสมาชิกอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ

นายกิจธวัช ฤทธีราวี นายกสมาคมการขายตรงไทย เปิดเผยภายหลังการ MOU กับทีมข่าว MLM NEWS ONLINE ว่า ที่ผ่านมาตลอดหลายสิบปีอุตสาหกรรมขายตรงไทย ถูกบั่นทอนไปมากจากผู้ประกอบการสีเทา และผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแบบ short term ซึ่งการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับหลายสมาคมของขายตรง จึงเป็นประโยชน์ต่อขายตรงไทย  และเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ของผู้ประกอบการ ที่ร่วมมือกับทางภาครัฐในการแสดงพลังที่ดีที่สุด ที่จะช่วยกันประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ ให้ความรู้ผู้บริโภคก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ เป็นสิ่งสะท้อนที่แสดงถึงความยั่งยืนที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้

“ตรงนี้ไม่ใช่จุดเริ่มต้น แต่เริ่มทำกันมานานแล้ว แต่วันนี้อาจจะเป็นรูปธรรมที่สุดที่เคยทำมา เพราะฉะนั้นทางสมาคมฯ ยินดีที่จะสนับสนุนกับโครงการแบบนี้ หากทาง สคบ . มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ก็ยินดีสนับสนุนเต็มที่เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านของกำลังพล เรามีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมากมายในสมาคมฯ คนที่มีประสบการณ์มาร่วมกันให้ความรู้กับประชาชน เป็นต้น” นายกิจธวัช กล่าว

วิวัฒนาการของโลกเมื่อก้าวเข้าสู่ Social Commerce หรือ Digital Online ทำให้หลายบริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ แต่โดยภาพรวมแล้ว ผู้ประกอบการขายตรงยังคงมีจุดยืนที่ต่างกัน เนื่องจากมีผู้ประกอบการกลุ่มหนึ่งที่มีความพร้อมและความสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมาสนับสนุนธุรกิจ แต่ก็ยังคงมีผู้ประกอบการบางกลุ่มที่ไม่พร้อมจะลงทุน เพราะด้วยต้องใช้เงินลงทุนที่สูง จึงหันมาใช้ประโยชน์ของ Public Marketplace เป็นช่องทางการในขายสินค้า ที่ส่งผลให้เกิดผลกระทบบริษัทขายตรงด้วยกันเอง หรือผลกระทบต่อผู้บริโภคเช่นกัน ที่อาจได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หมดอายุ หรือขายตัดราคา ซึ่งที่ผ่านมาแม้สมาคมฯ ต้องการผลักดันกฎหมายห้ามบริษัทขายตรงขายสินค้าบน Public Marketplace แต่ก็ไม่เกิดผลสำเร็จ

“เราต้องเคารพผู้ประกอบการ ถึงแม้ว่าในแง่ธุรกิจจะเป็นคู่แข่งกัน แต่สุดท้ายเราอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันเราต้องเคารพซึ่งกันและกัน ที่สำคัญต้องมีทางเดินให้กับผู้ประกอบการที่ไม่พร้อมที่จะลงทุนด้าน platform เช่นเดียวกัน” นายกิจธวัช กล่าว

สำหรับ Social commerce ในธุรกิจขายตรงนั้น นายกิจธวัช ระบุว่า เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคในตัวมันเอง ในด้านโอกาส เป็นการเชื่อมการพัฒนาการของขายตรงที่กำลังก้าวไปสู่ออนไลน์ เพราะว่าแพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้น จะช่วยลดขั้นตอนการทำธุรกิจให้สะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น ขณะที่อุปสรรค จะเป็นการคาบเกี่ยวกับความเสียหายทับซ้อน ไม่ว่าจะเป็น การขายสินค้าที่หมดอายุ ซึ่งเจอเป็นจำนวนมาก / ปลอมแปลงสินค้า แม้กระทั่งนำสินค้าไปตัดราคากัน และเป็นประเด็นที่ต้องหาทางแก้ไข  

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมการขายตรงไทย เน้นย้ำถึงความเชื่อมั่นของบริษัทขายตรงว่า ยังคงยึดหลักการปรัชญาเดิมในการดูแลผู้บริโภค เช่น การรับประกันความพอใจ ไม่พอใจต้องคืนเงิน สินค้าผิดพลาดต้องรับผิดชอบ และอื่นๆ ที่เป็นความเสียหายต่อผู้บริโภค ซึ่งบริษัทขายตรงในสมาคมขายตรงดูแลและให้ความเป็นธรรมผู้บริโภคเต็มศักยภาพอยู่แล้ว

“ในโอกาสนี้ ตนได้เสนอกับ สคบ. ด้วยว่าหากอุตสาหกรรมขายตรงมีการดูแลผู้บริโภคอย่างเต็มศักยภาพแล้ว ควรจะนำวิธีการใช้กับธุรกิจออนไลน์อื่นๆ ด้วย ว่าให้เขาต้องมีจริยธรรมและมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคเช่นเดียวกัน” นายกิจธวัช กล่าวเสริม

ทั้งนี้ สมาคมฯ มีความเชื่อมโยงกับสมาชิกของสมาคมฯ อย่างต่อเนื่อง ในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่นักธุรกิจด้วย เช่น เมื่อเจอสินค้าปลอม จะประกาศให้รับทราบ และกระจายข่าวไปยังผู้บริโภคโดยเร็ว มีการเปรียบเทียบสินค้าจริง สินค้าปลอมให้เห็นชัดเจน ส่วนการให้ความรู้ความเข้าใจสามารถช่วยในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาคงไม่หมด เพราะสุดท้ายก็ยังมีผู้บริโภคอยู่กลุ่มหนึ่งที่ตัดสินด้วยราคาอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จนถึงสงครามรัสเซีย ต้องยอมรับว่าทำให้มีต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น แต่ในทุกวิกฤตสมาคมฯ มีมาตรการช่วยเหลือสมาชิกฯ ของสมาคมมาโดยตลอด ทั้งลดค่าสมาชิก เพื่อลดภาระให้กับสมาชิกในสมาคม / การแลกเปลี่ยนความรู้กับดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถตัวดำเนินต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่ยังเป็นอุปสรรค เป็นต้น

Skip to content