วิกฤติผลผลิตโกโก้เมืองเพชรบูรณ์คลี่คลาย “จังหวัดจับมือหอการค้าเพชรบูรณ์” ยื่นมือเช้ามาช่วยเหลือ ผุดโครงการรับซื้อผลโกโก้สด หลังเกิดประเด็นเศร้า เกษตรกรเพชรบูรณ์ ร้องเรียนโอดครวญชีวิตย่ำแย่ ถูกหลอกขายต้นโกโก้ มาส่งเสริมให้ปลูก มีสัญญาประกันรับซื้อ แต่ดันทิ้งไม่มาตามสัญญา “ยชญ์สุธา วิชัยธนพัฒน์” ประธานหอการค้าเผยราคารับซื้อ ก.ก.ละ 8-10 บาท พร้อมต่อยอดเปิดภารกิจจัดทีมพัฒนาคุณภาพผลผลิตโกโก้ ยกคุณภาพชีวิตผู้ปลูกให้มีรายได้ดีและมั่นคง
จากกระแสที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือน เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ในประเด็น เกษตรกรเพชรบูรณ์ โอดถูกหลอกขายต้นโกโก้ มีสัญญาประกัน 8 ปี อ้างรับซื้อกิโลกรัมละ 10 บาท แต่ดันทิ้งไม่มารับซื้อ วอนหน่วยงานภาครัฐ และบริษัท ช่วยเหลือ เพราะสถานการณ์ย่ำแย่หนัก ซึ่งกระแสข่าวดังกล่าวทำให้ บริษัทผู้ทำการส่งเสริมการปลูกโกโก้ ก็ได้ออกมาชี้แจ้ง
ว่า บริษัทยังคงเดินหน้าทำธุรกิจโกโก้ แต่ที่เกิดปัญหาขึ้นเพราะข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่ทำสัญญากับบริษัท ถูกฝ่ายส่งเสริมที่เคยร่วมงานกับบริษัทลบออกจากระบบจัดเก็บของบริษัททั้งหมด บริษัทจึงต้องทำการรวบรวมข้อมูลสัญญาขึ้นมาใหม่
อย่างไรก็ตามจากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทางจังหวัดเพชรบูรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเปิดโครงการรับซื้อผลโกโก้สดจากเกษตรกรภายในจังหวัดขึ้นเพื่อคลี่คลายปัญหา โดยให้ดำเนินการโครงการผ่าน หอการค้าจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้ทำการเปิดรับลงทะเบียนรับซื้อมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
นายยชญ์สุธา วิชัยธนพัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยถึงโครงการรับซื้อผลโกโก้สดจากเกษตรกรในจังหวัดว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากเกิดปัญหาที่มีเอกชนได้เข้ามาส่งเสริมการปลูกโกโก้ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลจาก เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่ามีการปลูกโกโก้ประมาณ 10,000 ไร่ โดยมีต้นโกโก้ที่ออกผลพร้อมขายแล้วประมาณ 4,000 ไร่ จึงได้ทำการแจ้งเรื่องไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ ถ้าหากมีความประสงค์จะนำมาขายให้กับหอการค้า ก็ยินดีจะรับซื้อผลโกโก้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 350 กรัม ขึ้นไป ในราคา 8-10 บาท ตามคุณภาพของผลผลิต เพื่อนำไปต่อยอดสู่การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพต่อไป
“ในเบื้องต้นจะรับซื้อผลโกโก้สด แล้วส่งต่อให้กับผู้ประกอบการที่มีความประสงค์นำไปต่อยอด ซึ่งได้มีการเจรจาหารือกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อหยุดปัญหาที่เกษตรคิดจะตัดต้นทิ้งเพื่อปลูกพืชชนิดใหม่เพราะขายผลผลิตไม่ได้ ไม่มีผู้มารับซื้อตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ไม่เพียงแค่นั้นหอการค้าก็ยังคิดต่อยอดไปอีกในอนาคตจะรวมกลุ่มกับวิสาหกิจ 40 วิสาหกิจในเพชรบูรณ์ที่ปลูกโกโก้ รวมกันทำการพัฒนาผลผลิต โดยจัดกิจกรรมให้ความรู้ที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาการปลูก ดูแล และหมักบ่มผลิตเมล็ดแห้ง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น จะทำให้ขายได้ในสัดสวนที่มากขึ้น และส่วนที่ถูกทิ้งก็จะน้อยลง”
ทั้งนี้หอการค้าเพชรบูรณ์ ดำเนินโครงการนี้ขึ้นมา ก็เพราะต้องการที่จะให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งกับเกษตรกรให้มีช่องทางสร้างรายได้กลับไป หรือหากทางเอกชนผู้ที่เข้ามาส่งเสริมการปลูกไว้ก่อนหน้านี้ยังต้องการผลผลิตจากเกษตรกร ทางหอการค้าก็ยินดีจะดำเนินการเป็นคนกลางรับซื้อส่งต่อให้ได้ โดยที่จะไม่ทำให้เอกชนเสียหาย ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เข้ามาช่วยเหลือเกษตรเป็นหลัก โดยเจตนาของหอการค้านั้น ก็เพื่อเป็นตัวกลางทำให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
ในส่วนการประกาศลงทะเบียนรับซื้อที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมานั้น เกษตรกรรับทราบกันแล้ว และมีการลงทะเบียนไว้ล่วงหน้ากับ เกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ประมาณ 4,000 ไร่ แต่ที่สำคัญกว่านั้นสำหรับกลุ่มวิสาหกิจที่ลงทะเบียนกับหอการค้า ทางหอการค้าก็จะมีโครงการพัฒนาผลผลิตโกโก้ให้มีคุณภาพและได้ผลผลิตจำนวนมากขึ้น โดยมีทีมนักวิชาการจัดอบรมเกษตรกร และลงพื้นที่ปฏิบัติการจริง ซึ่งเป้าหมายของจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็คือการทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มากขึ้นและมั่นคงนั้นเอง โดยเบื้องต้นการรับซื้อผลสดหอการค้าจะรับซื้อไม่อั้น แต่ถ้าเป็นเมล็ดแห้งมีความต้องการถึง 20 ตันต่อเดือน
“โกโก้ที่ปลูกในจังหวัดเพชรบูรณ์คิดว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตมาก เพราะเมล็ดโกโก้ที่ปลูกในพื้นที่เพชรบูรณ์ มีรสชาติที่มีความเฉพาะตัว หวานอร่อยกว่าที่อื่น เนื่องจากดินที่เพชรบูรณ์ เหมาะที่จะปลูกพืชชนิดนี้ เช่นเดียวกับพืชชนิดที่มีชื่อเสียงของจังหวัด เช่น ปลูกมะขามก็หวาน ปลูกสะเดาก็มัน เพราะที่นี่ดินมีลักษณะพิเศษ และที่จังหวัดภูมิใจมากก็คือ ในการจัดประกวดโกโก้ครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อเดือน มกราคม ที่ผ่านมา โกโก้จากอำเภอนางั่ว ของเราก็ได้รับรางวัลแชมป์เปียนกันเลยทีเดียว”
More Stories
เมืองไทยสไมล์คลับ ฉลองครบรอบ 20 ปี จัดแคมเปญ “สุขหลายต่อ แจกจัดเต็ม” ส่งมอบความสุขแก่สมาชิกคนสำคัญ
51Talk ส่งเด็กไทยเข้าร่วม COP29 การประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทพิสูจน์การสนับสนุนเยาวชนก้าวสู่เวทีระดับโลก
TACC เปิดโรงงานที่ 3 อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี