กรุงเทพฯ – 8 กรกฎาคม 2565 – สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) และสมาคมเคมีแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี เดินหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ด้วยหลักการของปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” จัดเวิร์คช้อปกิจกรรม “เคมีดาวอะคาเดมี่ (Dow Chemistry Academy 2022)” เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อส่งเสริมศักยภาพครูวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศโดยขยายผลเครือข่ายการสอนวิชาเคมีแบบย่อส่วนอย่างต่อเนื่อง
เวิร์คช้อปกิจกรรม “เคมีดาวอะคาเดมี่ (Dow Chemistry Academy 2022)” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 -30มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมแมนดารินกรุงเทพ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเคมีมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงลึก ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการออกแบบวิธีการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนอย่างเหมะสมกับผู้เรียนยุคใหม่ และอนาคตของการศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ให้แก่คุณครูต้นแบบในโครงการ “ห้องเรียนเคมีดาว” จำนวนกว่า 50 คน
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า “เราจะทำอย่างไรให้เด็กเห็นความสำคัญของเคมี จะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนเข้าถึงง่าย มีความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ถ้าสามารถทำได้จะถือว่าสุดยอด อย่าให้ความรู้ของเด็กจบอยู่ที่ความรู้ของเรา แต่ต้องให้เด็กได้ความรู้จากเครือข่ายภายนอกด้วย เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ได้อย่างไร้ขอบเขต”
นายณัฐพงศ์ จิรวัฒนาวรกุล ผู้จัดการแผนกสื่อสารองค์กรและกิจการสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “เวทีในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนและติดอาวุธให้กับครู พัฒนาศักยภาพจนนำผลไปประยุกต์ใช้ที่โรงเรียนได้ และเผยแพร่เทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนไปยังนักเรียน ทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลต่อความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการจุดประกายให้เยาวชนมีเป้าหมายเป็นนักวิทยาศาสตร์มากขึ้นในอนาคต ถือเป็นการสร้างคนคุณภาพที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนและประเทศต่อไป”
นอกจากนี้ คุณครูต้นแบบทุกท่านยังได้เข้าฟังบรรยายหัวข้อต่าง ๆ ที่น่าสนใจจากนักวิทยาศาสตร์และนักเคมีแขนงต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในงาน Pure and Applied Chemistry International Conference (PACCON 2022) ภายใต้แนวคิด “Frontiers in Chemical Sciences for Health, Energy, and Sustainability Chemistry Toward a Sustainable Future” ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดให้กับนักเรียนในชั้นเรียน พร้อมทั้งนำเสนอผลงานที่ส่งเข้าประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคปฏิบัติการเคมีแบบย่อส่วนประจำปี พ.ศ. 2564 ภายใต้โครงการห้องเรียนเคมีดาว (DOW-CST Award 2020-2021) ให้กับผู้ร่วมงานกว่า 1,000 คน ณ หอประชุม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
นายภูมิตะวัน แสงสุข โรงเรียนบุณฑริกวิทยาคาร คุณครูต้นแบบ กล่าวว่า “ที่โรงเรียนมีชุมนุมเคมีย่อส่วน เด็ก ๆ เขาก็จะคิดโครงงานขึ้นมา เราก็ส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ส่งโครงการเข้าประกวด ส่วนคุณครูท่านอื่นถ้าสอนทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ก็สามารถนำเอาชุดการทดลองไปใช้ได้ง่ายมาก เพราะมีคู่มือที่เข้าใจได้ง่าย”
นางสริลลา เจริญมิตรมงคล โรงเรียนรามันห์ศิริวิทย์ กล่าวว่า “โครงการนี้ทำให้เราสามารถทำการทดลองโดยใช้สารเคมีปริมาณน้อยแต่ได้ผลชัดเจน สามารถเซฟค่าใช้จ่าย เซฟความปลอดภัยให้เด็กนักเรียน ทำให้โรงเรียนเล็ก ๆ ที่ไม่มีอุปกรณ์มากมาย สามารถทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้”
นางอัจฉรา ถาวรคุณ โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง กล่าวเสริมว่า “ในการสอนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนนต้นนั้นจะมีความวุ่นวายพอสมควร การมีสารเคมีหลายประเภทในปริมาณมากทำให้นักเรียนเกิดความสับสน พอเขาไม่เข้าใจ ก็ส่งผลให้ไม่ชอบเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ แต่พอได้นำการทดลองเคมีแบบย่อส่วนมาใช้ เด็ก ๆ ก็เข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นการเอาการทดลองใหญ่มาย่อไว้ในกล่องกล่องเดียว การทดลองก็สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ทำให้เด็ก ๆ มีความสุขในการเรียนวิทยาศาสตร์ค่ะ”
ดร.อุษา จีนเจนกิจ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า “การเรียนเคมีเมื่อนักเรียนได้ทำการทดลอง เขาก็จะมีความเชื่อมั่นมีความเข้าใจได้มากกว่าการฟังคำบอกเล่าจากครู ดิฉันอยากจะพัฒนาการทดลองเคมีแบบย่อส่วนให้ครอบคลุมหัวข้ออื่น ๆ มากขึ้น และให้ตอบโจทย์เรื่องเคมีสีเขียว ที่เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”
นางสาวทัศนีย์ ดลกุล โรงเรียนแกลง “วิทยสถาวร” กล่าวว่า “หลังจากที่ได้นำเอาวิธีการสอนเคมีย่อแบบส่วนไปประยุกต์ใช้ ทั้งกิจกรรมชุมชุมในห้องเรียน ใช้ในวิชาเรียน เด็กก็มีความชอบ ตื่นเต้น อยากเรียนรู้ต่อ ถามครูว่ามีแล็บอื่นอีกไหม วิชาอื่นมีแบบนี้อีกไหม”
นอกจากนี้ คุณครูที่ปรึกษาที่ได้รับรางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยมในการประกวด DOW-CST Award เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังได้เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศจากศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในงาน PACCON 2022 เมื่อเร็ว ๆ นี้อีกด้วย
More Stories
“ซึ้งใจมาหาถึงบ้าน” คาราวาน “ผ้าห่มผืนเขียว” เดินทางข้ามหุบเขา มอบไออุ่นถึงมือพี่น้องชาวพิษณุโลก
เอสซีจี เดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในอาเซียน มอบทุนอีก 3 ประเทศ
คาร์กิลล์ สานต่อ ‘โครงการเกษตรอาหารกลางวัน’ สร้างความยั่งยืนทางอาหารให้เยาวชนไทย ตอกย้ำการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารโลก