ในปัจจุบันมีการอุบัติขึ้นของเชื้อไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยชนิดใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสายพันธุ์ย่อย BA.4/5 และ BA.2.12.1 ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงความวิตกกังวลถึงความดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากการฉีดวัคซีน และภูมิคุ้มกันที่ได้มาจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติจากสายพันธุ์ย่อย BA.1 จากการระบาดก่อนหน้านี้ วารสาร New England Journal of Medicine (วันที่ 30 มิถุนายน 2565) ได้แสดงผลการศึกษาจากทีมนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำการประเมินระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งเชื้อไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยชนิดต่างๆ ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดประเภท mRNA ชุดเข็มหลักมาแล้ว 2 เข็ม และกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีน mRNA จำนวน 3 เข็ม นอกจากนี้แล้วทางผู้วิจัยยังได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยใหม่ในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 30 คน จากการติดเชื้อเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในช่วงของการระบาด BA.1 อีกด้วย
จากการศึกษาพบว่า ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย ในบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดประเภท mRNA ชุดหลัก จำนวน 2 เข็ม นั้นมีระดับที่ต่ำ โดยค่าเฉลี่ยของระดับภูมิอยู่ที่ 52, 39, และ 37 ต่อสายพันธุ์ BA.1, BA.2 และ BA.4/5 ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของเชื้อโอไมครอน อย่างไรก็ดี ในบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น mRNA เข็มที่ 3 (กลุ่มตัวอย่างเป็น บุคลากรทางการแพทย์ 4 คนที่ได้รับวัคซีน mRNA-1273 จํานวน 3 เข็ม และ 11 คนที่ได้รับวัคซีน BNT162b2 จํานวน 3 เข็ม) พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อโอไมครอนชนิดต่างๆที่ตรวจวัด เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยค่าเฉลี่ยของระดับภูมิจากการฉีดวัคซีน mRNA จำนวน 3 เข็ม อยู่ที่ 976, 933, และ 647 ต่อสายพันธุ์ BA.1, BA.2 และ BA.4/5 ตามลำดับ โดยระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ใหม่จากการฉีดวัคซีน mRNA 3 เข็ม ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม
นอกจากนี้แล้วจากการประเมินระดับภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อในผู้ป่วยจำนวน 30 คนที่เคยติดเชื้อโอไมครอนจากระลอก BA.1 และได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ไม่เข้ารับการรักษาในห้องไอซียูพบว่า ระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ BA.4/5 และ BA.2.12.1 นั้นต่ำกว่าระดับที่มีต่อเชื้อสายพันธุ์ BA.2 ที่ 37.8% และ 10.2% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าภูมิที่ได้จากการติดเชื้อในช่วงระลอก BA.1 ไม่สามารถให้การป้องกันที่มีประสิทธิภาพต่อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยที่อุบัติใหม่ได้
โดยสรุปแล้ว งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในการป้องกันและรับมือกับไวรัสสายพันธุ์อุบัติใหม่ ดังจะเห็นได้จากการที่วัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มระดับของภูมิคุ้มกันยับยั้งเชื้อโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/5 และ BA.2.12.1 ได้เพียงพอ ถึงแม้ว่าจะมีระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ ภูมิคุ้มกันต่อ BA.1 และ BA.2 ก็ตาม
More Stories
วีเอชดี ส่ง เมอริช คอฟฟี่ ชิงตลาดกาแฟสุขภาพ 3.4 หมื่นลบ.
BDMS Wellness Clinic คว้ารางวัล CEO of the Year 2024 จาก Bangkok Post
SOLUX Clinic เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ตอกย้ำความสวยที่มีระดับ (พรีเมียม)