26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

SCG รวมพลัง 315 พันธมิตร รัฐ เอกชน พลังหญิง-คนรุ่นใหม่ สู้วิกฤตโลกรวน


ขับเคลื่อน ESG ทั่วอาเซียน เผยแผนเร่งด่วนดันนวัตกรรม Net Zero ครั้งแรกในประเทศ
 ผนึกความร่วมมือรัฐ เอกชน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ 

19 กรกฎาคม 2565- กรุงเทพฯ: ภาคเอกชน ภาครัฐ ประชาสังคม และพันธมิตรระดับโลก ผนึกพลัง ความร่วมมือด้าน ESG เป็นครั้งแรกในไทยในงาน ESG Symposium 2022 มุ่งเร่งแก้วิกฤตซ้ำซ้อน โลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติ  อาหารขาดแคลน พิษโควิด ปัญหาเงินเฟ้อ พลังงานพุ่ง เผยข้อสรุปเร่งดันแผนจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือพัฒนานวัตกรรม Net Zero ครั้งแรกในประเทศ เพื่อระดมความรู้ เทคโนโลยีจากทั่วโลก คาดเห็นความชัดเจนปลายปีนี้   ขณะที่ภาคเอกชนประกาศคำมั่นเดินหน้าเชิงรุกขยายเครือข่าย ความร่วมมือเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียวตลอดห่วงโซ่คุณค่า พร้อมจับมือภาครัฐด้วย 10 แนวทางมุ่งสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานเอื้อการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนเงินทุน จัดระบบการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมวินัยการคัดแยกขยะ และการออกแบบที่ยั่งยืน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยในงาน ESG Symposium 2022 :Achieving ESG and Growing Sustainability ว่า “เอสซีจีได้ยกระดับ SD Symposium ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 สู่  ESG Symposium เพื่อขยายพลังความร่วมมือตามแนวทาง ESG ซึ่งเป็นทางรอดเดียวที่จะช่วยแก้วิกฤตซ้ำซ้อนที่กำลังเผชิญอยู่ โดยที่ผ่านมาเวทีดังกล่าวได้ผลักดันความร่วมมือจากระดับโลกเชื่อมโยงสู่ระดับประเทศเพื่อสร้าง การเปลี่ยนแปลงและแก้ไขวิกฤตที่เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น ความร่วมมือสร้าง Roadmap ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตในประเทศไทยกับสมาคมซีเมนต์และคอนกรีตโลก (Global Cement and Concrete Association – GCCA) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ของไทยให้ดำเนินนโยบายบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 ให้เป็นทิศทางเดียวกับระดับโลก พร้อมเตรียมนำแผนงานดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม COP 27 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ที่ประเทศอียิปต์ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือแก้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรอย่างยั่งยืนกับ Alliance to End Plastic Waste- AEPW ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกที่เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มบริษัทที่ทำงานร่วมกันในห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมพลาสติก ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค จนถึงผู้ที่จัดการพลาสติกหลังจากใช้แล้ว เป็นต้น”

“แม้ว่าที่ผ่านมา คนได้เริ่มตื่นตัว ตระหนักถึงปัญหา และลุกขึ้นมาลงมือทำ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ ตลอดจนมีความร่วมมือเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก  แต่ก็ยังไม่ทันต่อวิกฤตโลกที่ทวีความรุนแรงและใกล้ตัว มากขึ้น ทั้งสภาพอากาศแปรปรวน ภัยแล้ง น้ำท่วม ทรัพยากรที่เริ่มไม่เพียงพอ เกิดภาวะวิกฤตอาหารและพลังงาน ขาดแคลนทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตโควิด 19 ที่กลับมาอีกระลอก โรคระบาดใหม่ที่พร้อมก่อตัว รวมถึงเงินเฟ้อ ความยากจนที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น  ขณะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1.1 องศา หากไม่เร่งความร่วมมือแก้ไขจนอุณภูมิโลกร้อนเกินเป้าหมายที่ 1.5 องศา โลกจะเปลี่ยนแปลงจนเราไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้แบบเดิม ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกคน ทุกหน่วยงานต้องเริ่มลงมือแก้ไขด้วยตนเอง เริ่มจากการปรับพฤติกรรมง่ายๆ ใกล้ตัวและขยายไปสู่ความร่วมมือเพื่อแก้ไขให้ทันท่วงที  การจัดงาน ESG Symposium 2022 ในครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อเร่งขยายพลังความร่วมมือให้มากขึ้นและทันต่อวิกฤตโลก ทั้งในบริบทของสิ่งแวดล้อม (Environmental)   สังคมเหลื่อมล้ำ (Social)  โดยยึดถือความโปร่งใส (Governance)เป็นพื้นฐานสำคัญในทุกการดำเนินงาน” นายรุ่งโรจน์กล่าว

ด้านนายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม การพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี เปิดเผยว่า จากการระดมสมองของทุกภาคส่วนในงาน ESG Symposium 2022   ได้ข้อสรุป  2 แนวทาง ที่นำไปสู่การขยายผล และการลงมือปฏิบัติได้จริง  เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emissions) ภายในปี 2065 ดังนี้

1.จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อ Net Zero ผ่านรูปแบบของ Industrial and Academic Consortium ครั้งแรกในไทยที่ระดมความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชนจากระดับโลกและระดับประเทศ โดยมีนักวิชาการ ผู้บริหารระดับสูงจากหลากหลายส่วน ทั้งพลังงาน ขนส่ง ไฟฟ้า ปิโตรเคมี ก่อสร้าง อุปโภคบริโภค สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT-Massachusetts Institute of Technology)  สมาคมคอนกรีตโลก (GCCA- Global Cement and Concrete Association)  สภาอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีสำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ  (สอวช.) เป็นผู้ขับเคลื่อน ซึ่งความร่วมมือนี้ มีเป้าหมายเพื่อเร่งทำโรดแมปการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนที่ดีที่สุดมาใช้ในประเทศไทย เช่น เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS – Carbon Capture, Utilization and Storage)  การเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นพลังงานทางเลือก (Fuel Switching)  พลังงานไฟฟ้า (Electrification) และระบบพลังงานที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง (Hydrogen Economy) คาดว่าจะมีความชัดเจนปลายปีนี้

2.การผนึกกำลังขยายเครือข่ายความร่วมมือสร้างสังคมคาร์บอนต่ำของภาคเอกชน 60 องค์กร
ผ่านความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ครอบคลุมมิติด้านพลังงานทางเลือก เศรษฐกิจหมุนเวียน
(Circular Economy) ที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืน เช่น กลุ่มเครือข่ายความร่วมมือ 23 องค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (CECI-Circular Economy in Construction Industry)   และโครงการความร่วมมือ PPP Plastics (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) สร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติก นำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล ขับเคลื่อนโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI)  องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และพันธมิตรกว่า 30 องค์กร   โดยจากการระดมสมองของภาคเอกชนในครั้งนี้ ได้นำไปสู่ความร่วมมือกับภาครัฐเดินหน้า 10 แนวทางการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนด้านเงินทุน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับพลังงานสะอาด  การจัดระบบการจัดเก็บขยะที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมวินัยการคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน รวมถึงสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีการพัฒนาสินค้าที่เป็นมิตร
ต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ งาน ESG Symposium 2022 ยังให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
โดย
ส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงและกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ไขวิกฤตต่างๆ ร่วมกัน เนื่องจากผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการดูแล จุนเจือครอบครัว รวมถึงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของชุมชน และประเทศชาติ โดยจัดให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง สร้างแรงบันดาลใจ ให้ผู้หญิงทุกคนมองเห็นศักยภาพ
ในตนเอง  พร้อมพัฒนาทักษะความรู้ ความสามารถในการก้าวผ่านความยากลำบากต่างๆ ในชีวิต มีรายได้ มีอาชีพมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ สอดคล้องกับการส่งเสริมบทบาทสตรี ตามวัตถุประสงค์ของการจัดประชุม APEC 2022 Thailand   พร้อมชวนสังคมให้เชื่อมั่นในศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวคิด มีความสามารถที่แตกต่างหลากหลาย เป็นพลังช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางทั่วอาเซียน เช่น ตัวแทนเยาวชนจากอินโดนีเซีย ที่พัฒนานวัตกรรมม้วนฟิล์มพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับคนมีรายได้น้อย หรือตัวแทนเยาวชนไทยที่พัฒนาโปรแกรมแปลภาษามือ เพื่อช่วยให้คนพิการใช้ชีวิตได้สะดวกสบายมากขึ้น   

 “การแก้วิกฤตโลกถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกคน ทุกหน่วยงาน ต้องเริ่มลงมือแก้ไขด้วยตนเอง รวมทั้งผนึกกำลังความร่วมมือให้เกิดผลจริง เชื่อมั่นว่าข้อสรุปความร่วมมือจากเวที ESG Symposium 2022 จะได้นำไปปฏิบัติ ให้เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและขยายผลในวงกว้างตามแผนงานต่อไป โดยเอสซีจี ยินดีเป็นตัวกลางประสานกับทุกๆ ฝ่าย ไปพร้อมกับเร่งติดตามความคืบหน้า เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนคือ โครงการ ความร่วมมือต่างๆ มีความก้าวหน้า และทุกคนในห่วงโซ่คุณค่าได้รับประโยชน์ เพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ตามแนวทาง BCG และส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้กับลูกหลานต่อไป” นายรุ่งโรจน์ กล่าวสรุป

Skip to content