26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

เทคโนโลยี 5G ความท้าทายของการใช้งานในภาคการผลิต

Business

นึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยเข้าสู่ Industry 4.0
จากความพร้อมในการใช้งานของเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศและคุณภาพของสัญญาณที่สามารถรองรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจาก 5G สามารถรองรับการถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว มีความเสถียร และความหน่วงต่ำ รวมถึงสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ได้ในจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับ 4G ดังนั้น 5G จึงเหมาะสำหรับการใช้งานระบบอัตโนมัติภายในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ระบบการทำงานภายในโรงงานอุตสาหกรรมมีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่น การตรวจสอบคุณภาพสินค้าระหว่างการผลิต และการควบคุมเครื่องจักรในพื้นที่เสี่ยงอันตรายผ่านระยะไกล

ผู้ประกอบการยังเผชิญกับข้อจำกัดการลงทุนในเทคโนโลยี 5G ทั้งในด้านความเข้าใจนโยบายส่งเสริมการใช้งาน การขาดแคลนบุคลากร และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การลงทุนในเทคโนโลยี 5G ผู้ประกอบการยังมีข้อจำกัดในการลงทุน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การขาดความเข้าใจนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยี 5G รวมถึงเงื่อนไขในการสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2. การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง ที่จะเข้ามารองรับการใช้งานเทคโนโลยีในอนาคต และ 3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากการลงทุนเทคโนโลยี 5G ต้องใช้เม็ดเงินค่อนข้างสูงและมีระยะเวลาคืนทุนหลายปี ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนตัดสินใจชะลอการลงทุน

ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องเริ่มปรับตัวทั้งการสร้างองค์ความรู้ นำเทคโนโลยีมาใช้และพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อให้พร้อมต่อการใช้งาน 5G ในภาคการผลิตที่มากขึ้น เทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มมากขึ้น และจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสิทธิประโยชน์และคำแนะนำได้อย่างถูกต้อง การรู้เท่าทันและการเปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมทั้งเริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ภายในโรงงาน จะช่วยหนุนให้ธุรกิจเติบโตและสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว รวมถึง การพัฒนาทักษะแรงงานในองค์กร (Upskill, Reskill) โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และการเข้าร่วมปรับปรุงหลักสูตรการศึกษากับสถานศึกษา ที่จะช่วยให้แรงงานทักษะในอนาคตตรงตามความต้องการของตลาด

การผลักดันให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี 5G อย่างแพร่หลายและเต็มศักยภาพ ในระยะแรก ผู้ประกอบการยังต้องการการส่งเสริมการใช้งานที่ชัดเจนเพื่อบรรเทาข้อจำกัดความท้าทายสำคัญของการส่งเสริมการใช้งานในระยะแรกคือ เป้าหมายและทิศทางการใช้เทคโนโลยี 5G ที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายปัญหาความต้องการแรงงานทักษะสูง ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางการเงินซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดแรงจูงใจในการลงทุนนวัตกรรมสมัยใหม่ผ่านการใช้งานเทคโนโลยี 5Gในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น

ความสำคัญของเทคโนโลยี 5G ต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต

เทคโนโลยี 5G นับว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดการปฎิวัติอุตสาหกรรมสู่ระบบอัตโนมัติ หรือ Industry 4.0 โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ด้วยคุณสมบัติของ 5G ที่รองรับการถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว มีความเสถียร และความหน่วงต่ำ รวมถึงสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้ในจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับ 4G ดังนั้น การนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์เข้ากับการใช้งานอุปกรณ์ (Internet of Things : IoT) หรือระบบประมวลผลอัตโนมัติ (Artificial Intelligence : AI) ภายในโรงงานอุตสาหกรรม จะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิต ระบบการติดตามเครื่องมือและอุปกรณ์ภายในโรงงาน และระบบการตรวจสภาพเครื่องจักรและซ่อมบำรุงเครื่องจักร โดยหลายประเทศทั่วโลกได้ทดลองนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อเป็นต้นแบบการใช้งาน (Use cases) เช่น การเชื่อมต่อเทคโนโลยี 5G กับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในระบบอัตโนมัติของโรงงานในจีนสามารถเพิ่มผลผลิต (Productivity) ได้กว่า 10% การตรวจสอบคุณภาพสินค้าระหว่างการผลิตของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G กับระบบการตรวจสอบคุณภาพสินค้าผ่านการถ่ายภาพของกล้องตรวจจับและการประมวลผลในระบบ Cloud ที่สามารถคัดแยกสินค้าที่มีข้อบกพร่องได้ทันที โดยมีความแม่นยำสูงถึง 99.96% และทำงานได้เร็วขึ้นถึง 30 เท่า และการควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในการทำเหมืองใต้ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายผ่านการตรวจสอบและควบคุมระยะไกล จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงาน รวมถึงการตรวจจับความผิดปกติของสภาพแวดล้อมภายในโรงงานผลิตเหล็กผ่านระบบเซนเซอร์และกล้องตรวจจับที่สามารถแจ้งเตือนความผิดปกติของอุณหภูมิและความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ทันที ซึ่งสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ราว 30% อีกทั้ง ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและลดความเสียหายในกรณีที่การผลิตหยุดชะงักได้

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ GSMA, PwC และ Manufacturing Institute
ทั้งนี้จากประโยชน์ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในภาคการผลิตผ่าน Use cases ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสนใจในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้งานร่วมกับ 5G มากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของ Manufacturing Institute เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคการผลิต 105 บริษัท ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2020 พบว่า ผู้ประกอบการราว 90% เชื่อว่า เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้า และผลสำรวจความคิดเห็นของ EY จาก 1,018 บริษัท ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2021 พบว่า ผู้ประกอบการมากกว่า 70% มีแผนลงทุนเพื่อใช้งานเทคโนโลยี 5G ภายในปี 2025
การนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้กับภาคการผลิตจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ โดย PwC ได้ประเมินผลของการใช้เทคโนโลยี 5G ต่อเศรษฐกิจโลก พบว่า การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี 5G ของภาคธุรกิจทั่วโลกที่มีแนวโน้มแพร่หลายมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว อีกทั้ง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยการใช้งาน 5G ในภาคการผลิต จะสร้างมูลค่าเพิ่มกับระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2030 ได้สูงถึง 1.30 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดต้นทุนจากสินค้าที่มีความบกพร่องได้ถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับไทย ทางสำนักงาน กสทช. ได้ศึกษาประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี 5G ต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2018 พบว่า เทคโนโลยี 5G จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศได้สูงถึง 2.3 ล้านล้านบาทภายในปี 2030 โดยมูลค่าเพิ่มจากภาคการผลิตนับเป็นสัดส่วนที่สูงสุด ซึ่งคิดเป็น 6 แสนล้านบาท หรือ 27% ของมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจโดยรวมจากการใช้งาน 5G ของประเทศในปี 2030 อย่างไรก็ดี วิกฤต COVID-19 ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงงานการผลิตที่พึ่งพาแรงงานในสัดส่วนสูงหลายแห่ง ต้องปิดดำเนินการชั่วคราวจากการแพร่ระบาดแบบคลัสเตอร์ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวได้กระตุ้นให้ภาคการผลิตมีการตื่นตัวในการปรับใช้เทคโนโลยีมากขึ้นโดยเฉพาะระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม นั่นถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคการผลิตที่อาจมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นกว่าที่สำนักงาน กสทช. ประเมินไว้ข้างต้น

ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่พร้อมใช้งานเทคโนโลยี 5G และครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึงคุณภาพของสัญญาณสามารถรองรับการใช้งานระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้เป็นอย่างดี โดยไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการเปิดให้บริการ 5G ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผลจากการผลักดันของภาครัฐในการพัฒนาโครงข่ายระบบ 5G มาตั้งแต่ในปี 2019 และสำนักงาน กสทช. ได้มีการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับระบบโครงข่าย 5G ให้กับผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 โดยผู้ให้บริการเครือข่ายแต่ละรายต่างเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบ 5G ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูล ซึ่งจากการทดสอบคุณภาพสัญญาณโครงข่ายระบบ 5G ทั่วโลกเมื่อเทียบกับ 4G ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2021 ของ Opensignal พบว่า การดาวน์โหลดข้อมูลผ่านโครงข่าย 5G ของไทย มีความเร็วสูงสุดถึง 219.6 Mbps ซึ่งสูงกว่า 4G ถึง 19 เท่า และมีความหน่วงต่ำสุดน้อยกว่า 1 มิลลิวินาที ลดลงจาก 4G
ราว 10 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับในญี่ปุ่นและเยอรมนีที่มีการใช้งานจริงในโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าระบบ 5G ในไทยนั้น สามารถรองรับการใช้งานในภาคการผลิตที่ต้องอาศัยการจัดส่งและประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างรวดเร็วได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ โครงข่ายสัญญาณ 5G ของไทยมีความพร้อมใช้งานครอบคลุมมากกว่า 78% ของพื้นที่ทั่วประเทศแล้ว ซึ่งครอบคลุมการใช้งานในกรุงเทพฯ เกือบเต็มพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะ EEC ที่สามารถใช้งานได้ครอบคลุมเต็มพื้นที่แล้วในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเผชิญกับข้อจำกัด 3 ประการหลักในการตัดสินใจลงทุนเพื่อให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ 1. การขาดความเข้าใจนโยบายส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายยังคงมีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายในการส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีรวมถึงเงื่อนไขในการสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2. การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจเชิงเทคนิคและประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตแบบเดิมและหันไปใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น อีกทั้ง บุคลากรในองค์กรยังขาดทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูงที่จะมารองรับการใช้งานเทคโนโลยีในอนาคต 3. ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งการลงทุนในเทคโนโลยี 5G ต้องใช้เม็ดเงินค่อนข้างสูงและมีระยะเวลาคืนทุนหลายปี จึงทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนตัดสินใจชะลอการลงทุนหรือผู้ประกอบการที่อยากจะลงทุนยังคงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้การใช้งานเทคโนโลยี 5G ยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการลงทุนเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลก จากข้อจำกัดทั้ง 3 ประการข้างต้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระตุ้นให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในระยะแรกจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการควบคู่กับการส่งเสริมและสนับสนุนที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบ

ทั้งนี้แม้เทคโนโลยี 5G ในไทยจะสามารถใช้งานในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว อีกทั้ง คุณภาพรองรับการทำงานในระบบอัตโนมัติของภาคอุตสาหกรรมการผลิต แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านความเข้าใจในเป้าหมายและทิศทางการส่งเสริมการใช้งาน การขาดแคลนแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัล และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ จึงยังเป็นความท้าทายในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ได้อย่างเต็มที่ โดยการบรรเทาข้อจำกัดดังกล่าวควบคู่ไปกับการให้ความร่วมมือของผู้ประกอบการ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต

บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC …https://www.scbeic.com/th/detail/product/5g-051022

ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์
กีรติญา ครองแก้ว, นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

You may have missed

Skip to content