26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

เปิดตัว “บิ๊กซี รีเทล” เดินหน้าสร้างระบบนิเวศธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งครบวงจร เตรียมมอบประสบการณ์ชอปปิงที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์

บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “BRC” เผยทิศทางการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการในฐานะบริษัทเรือธง (Flagship Company) ของกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) และกลุ่มบริษัทไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น จำกัด (TCC) ที่มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนาโมเดลธุรกิจจากพื้นฐานธุรกิจเดิมของบิ๊กซีผนวกกับการรวบรวมพอร์ตโฟลิโอธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจค้าส่งในหลากหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างการเติบโตไปด้วยกันก่อนเตรียมนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ)

BRC เป็นผู้กระจายสินค้าให้กับผู้บริโภคด้วยรูปแบบของธุรกิจที่หลากหลายโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ ของผู้บริโภค ในประเทศไทยและในภูมิภาคเป็นการก้าวสู่เส้นทางการเติบโตครั้งใหม่บนรากฐานอันแข็งแกร่งของธุรกิจที่ครอบคลุมและพรั่งพร้อมด้วยสินค้าที่คุ้มค่าและหลากหลายตอบโจทย์ทุกความต้องการ และความชื่นชอบเพื่อสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภคและสร้างความยั่งยืนให้แก่สังคม

คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ “BRC” กล่าวว่า     “บิ๊กซี คือชื่อที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยมากว่า 30 ปี และวันนี้เราพร้อมที่จะก้าวสู่มิติใหม่ของธุรกิจและการเติบโตอันแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิมภายใต้ชื่อ “บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น” หรือ “BRC” ภายหลังการปรับโครงสร้าง      บริษัทฯ จะมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับศักยภาพในทุก ๆ ด้าน ให้เป็นผู้นำของภาคธุรกิจการค้าปลีกและค้าส่ง   ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งมอบประสบการณ์การเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ไม่เหมือนใครด้วยความคุ้มค่าและการคัดสรรสินค้าอย่างดี ซึ่งเป็นจุดหมายในการสร้างความสุขแบบบิ๊ก ๆ ให้กับลูกค้าทั้งคนไทยและต่างชาติในการเลือกซื้อสินค้าและบริการอย่างครบวงจร และเป็นสถานที่ที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของชุมชนให้ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงสามารถเข้ามาเลือกซื้อสินค้า และเป็นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร               เป็นจุดนัดพบและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้โดยไม่เสียเวลาเดินทาง ควบคู่ไปกับการมุ่งตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”

จากข้อมูลของ Euromonitor ในระหว่างปี 2556 ถึงปี 2565 ในกลุ่มผู้ค้าปลีกสมัยใหม่สามอันดับแรกในประเทศไทย BRC คือผู้ประกอบธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต และมีสถิติการเติบโตสูงสุด   ในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของส่วนแบ่งทางการตลาด (ซึ่งคำนวณจากรายได้จากการขายปลีก) นอกจากนี้ BRC ยังเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีระบบนิเวศทางธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในประเทศอื่น ๆ ที่เติบโตสูงในภูมิภาค ผ่านเครือข่ายร้านค้าหลากหลายรูปแบบและแบรนด์ทั่วประเทศ ด้วยรูปแบบธุรกิจแบบรวมศูนย์ซึ่งผสมผสานระหว่างธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (Town Center Business) ซึ่งเป็นจุดแข็งอันโดดเด่นที่ทำให้ BRC สามารถสร้างโอกาสในการนำเสนอผลกำไรและการเติบโตได้อย่างมั่นคง

BRC ยังมีรูปแบบช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลายและครบวงจร เข้าถึงและตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ มีการพัฒนาการนำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหลักผ่านฐานข้อมูลลูกค้าสมาชิกโปรแกรมสิทธิพิเศษบิ๊กพอยต์ซึ่ง BRC ได้มุ่งเน้นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง   เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า นอกจากนี้ BRC ยังมุ่งเน้นการคัดเลือกสัดส่วนของกลุ่มผู้เช่าและกลุ่มสินค้าในพื้นที่ร้านค้า (Retail Venue) อย่างละเอียดและรอบคอบ เพื่อให้สามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลาย อยู่ในกระแสนิยม มีความคุ้มค่าคุ้มราคา และกลายเป็นจุดหมายประจำ (Go-to Destination) สำหรับลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มคนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยว

โดยปัจจุบัน BRC มีเครือข่ายร้านค้าปลีกหลากหลายรูปแบบ (Multi-format) ประกอบด้วย บิ๊กซี ซูเปอร์  เซ็นเตอร์, บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า, บิ๊กซี เพลส, บิ๊กซี มาร์เก็ต, บิ๊กซี ฟู๊ดเพลส, บิ๊กซี ดีโป้, บิ๊กซี มินิ, บิ๊กซี ฟู๊ด เซอร์วิส รวมถึงธุรกิจตลาด Open-Air อย่างตลาดทิพย์นิมิตร, ตลาดครอบครัว, ตลาดเดินเล่น ตลอดจนร้านค้าอื่น ๆ ของ BRC เช่นร้านกาแฟวาวี, ร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส และร้านขายยาเพรียว อีกทั้งร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมภายใต้โมเดลร้านค้า “โดนใจ” ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่ BRC มุ่งให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย หรือร้านค้าโชห่วย เพื่อยกระดับสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ผ่านการให้การสนับสนุนการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเติบโตและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่นของตนเอง

นอกจากนี้ การที่ BRC ได้รับการสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขบางประการจากกลุ่ม TCC ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในทำเลที่มีศักยภาพจำนวนมากในประเทศไทย BRC อาจจะสามารถเข้าถึงที่ดินดังกล่าว ทําให้ BRC อยู่ในสถานะที่มีโอกาสเติบโตได้โดยการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว รวมทั้งภายใต้ข้อตกลงในสัญญาให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมและสัญญาให้สิทธิกับ BJC บิ๊กซี รีเทล มีสิทธิในการได้มาซึ่งกิจการ MM Mega Market (Vietnam) Company Limited และเครื่องหมายการค้า MM ที่ใช้ในการดำเนินกิจการร้านค้า MM Mega Market ในประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขบางประการตามสัญญา

BRC ได้พัฒนา Omnichannel Platform ที่มีรากฐานจากการวิเคราะห์และทำความเข้าใจฐานลูกค้าขนาดใหญ่ภายใต้โปรแกรมสิทธิพิเศษบิ๊กพอยต์ที่มีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนานกว่า 18 ล้านราย เพื่อมอบประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้าอย่างครบวงจรผ่านช่องทางออนไลน์ไปยังช่องทางออฟไลน์ (Online to Offline) ได้อย่างไร้รอยต่อ โดยนำเสนอผ่านการทำการตลาดแบบรายบุคคลซึ่งตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้า โดยอาศัยเครือข่ายร้านค้าที่กว้างขวางและแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น บิ๊กซี ออนไลน์ (www.bigc.co.th) แอปพลิเคชันบิ๊กซีพลัส (Big C PLUS) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานประมาณถึง 3.5 ล้านรายต่อเดือน นอกจากนั้นยังมีร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส เช่น Shopee, Lazada, Foodpanda, Grab Mart และอื่น ๆ

ขณะเดียวกัน BRC ยังมุ่งมั่นเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมให้ดีขึ้น ตลอดจนดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน โดยมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางธุรกิจอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ และวางเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นที่ดาดฟ้าของร้านค้า ศูนย์กระจายสินค้า และร่วมมือกับพันธมิตรในการนำรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการขนส่งสินค้า ตลอดจนตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในอัตราร้อยละ 15 ในปี 2575 เมื่อเทียบกับปี 2564 และตั้งเป้าหมายระยะยาวเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593 โดย BRC เชื่อว่าด้วยศักยภาพและประสบการณ์ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรม เราจะสร้างความสุขของคนไทยให้บิ๊กขึ้น คุ้มขึ้น ล่าสุด BRC ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบไฟลิ่ง)                      ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต.

You may have missed

Skip to content