26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

SME D Bank เปิดดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอี Q3 ขยับ ตอบรับนโยบายรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ

เดินหน้าลดภาระให้ผู้ประกอบการ จัดเต็มสินเชื่อรีไฟแนนซ์คู่โปรแกรมพัฒนาธุรกิจ 

SME D Bank จับมือ ศศินทร์ เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นเอสเอ็มอี ประจำไตรมาส 3/2566 ปรับขึ้นเล็กน้อย จากการปรับแผนการตลาด และความคาดหวังต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง  เช่นเดียวกับแนวโน้ม 3 เดือนข้างหน้ากระเตื้อง อานิสงส์เข้าสู่ไฮซีซั่นดันค้าขายท่องเที่ยวคึกคัก ภายใต้ปัจจัยท้าทาย ส่วนใหญ่กังวลต้นทุนธุรกิจเพิ่ม จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และขาดแคลนแรงงานฝีมือ ด้าน SME D Bank ประกาศแก้ปม เดินหน้ามอบบริการ “เติมทุนคู่พัฒนา” พาเข้าถึงสินเชื่อ “SME Refinance” วงเงิน 5,000 ล้านบาท ช่วยลดภาระ ผ่อนหนักเป็นเบา  ควบคู่โปรแกรมพัฒนา เติมทักษะให้แรงงาน เสริมแกร่งเพิ่มศักยภาพธุรกิจ 

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยว่า  “ศูนย์วิจัยและข้อมูล ธพว.”  ร่วมกับ “ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา” สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ “ผลสำรวจความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ ไตรมาส 3/2566 และคาดการณ์อนาคต”  จากการสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนกว่า 500 ตัวอย่างทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจของเอสเอ็มอีในไตรมาส 3/2566  ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (2/2566) จาก 65.90 มาอยู่ที่ 66.40 เนื่องจากผู้ประกอบการ มีการปรับตัวด้านแผนการตลาดต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น รวมถึง มีความคาดหวังต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง 

 ส่วนแนวโน้มความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน จาก 65.61 มาอยู่ที่ระดับ 66.79 เพราะได้รับอานิสงส์เข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวสิ้นปี หรือไฮซีซั่น ร้านค้า ภาคเอกชนต่างๆ มักจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และคาดจำนวนนักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามามากขึ้น 

เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและธุรกิจ แยกตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคบริการโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมก่อสร้าง มีความเชื่อมั่นสูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากได้ทำสัญญาโครงการก่อสร้างใหม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นสูงรองลงมา เนื่องจากมีการเดินทางและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้ระดับความเชื่อมั่นในภาพรวมยังคงสูง 

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ได้สำรวจปัญหาด้านแรงงานในผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พบว่า 76.94%  มีความกังวลด้านภาระต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ รองลงมา 23.73% ขาดแคลนแรงงานทักษะหลากหลายที่สามารถหมุนเวียนงานได้  ขณะที่ 21.29% ขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล และ 17.96% ต้องลดจำนวนแรงงาน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ 

ส่วนทักษะที่ต้องการเสริมให้แรงงานได้เรียนรู้เพิ่มเติม มากที่สุดถึง 59.42% คือ การตลาดและขายผ่านช่องทางออนไลน์ ตามด้วย 54.77% ทักษะเฉพาะทางตามสาขาอาชีพ  35.48% การตลาดและขายหน้าร้าน และ 29.71% ทักษะภาษาต่างประเทศ 

นางสาวนารถนารี   กล่าวเสริมว่า   จากผลสำรวจดังกล่าว  ดัชนีเชื่อมั่นที่ปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในปัจจุบัน และอนาคต โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนธุรกิจ และทักษะแรงงาน  ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนอยู่ในระดับต่ำ  ในการนี้ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งระยะยาวด้านการบริหารจัดการต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ  ดังนั้น SME D Bank จัดเตรียมบริการด้านการเงินควบคู่การพัฒนาช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดต้นทุนพร้อมกับเพิ่มศักยภาพธุรกิจไปพร้อมกัน 

ด้านการเงินมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อ “SME Refinance” วงเงิน 5,000 ล้านบาท  สามารถนำไปใช้วางแผนบริหารจัดการธุรกิจได้ล่วงหน้า และลดต้นทุนการเงิน จุดเด่นดอกเบี้ยต่ำ และเป็นอัตราคงที่  ปีแรก 2.99% ต่อปี และช่วง 3 ปีแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 3.50% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุดถึง 15 ปี แถมปลอดชำระเงินต้นสูงสุดถึง 12 เดือน   เปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566    อีกทั้ง จัดโปรโมชั่นพิเศษ  สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยใช้สินเชื่อจาก SME D Bank มาก่อน เมื่อยื่นกู้และเบิกใช้วงเงิน ตั้งแต่ 1-50 ล้านบาท ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ได้รับ  “Cash Back” มูลค่าสูงสุด 60,000 บาท สำหรับเป็นค่าประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกัน มูลค่าสูงสุด 30,000 บาทต่อราย และค่าจดจำนองหลักประกัน มูลค่าสูงสุด 30,000 บาทต่อราย 

ควบคู่กับโปรแกรม “พัฒนา” ฟรี!  ช่วยเสริมแกร่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านโครงการ “SME D Coach” โดยมีโค้ชมืออาชีพ ให้คำปรึกษาและแนะนำธุรกิจ รวมถึง จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะแรงงานที่จำเป็นให้ต่อเนื่อง เช่น  อบรม สัมมนาขยายตลาดออนไลน์ การใช้เครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น 

Skip to content