31 ตุลาคม 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

‘โรคประสาทหูเสื่อม’ ภัยร้ายที่อาจมาพร้อมเสียงดัง

แพทย์ รพ.วิมุต แนะ เลี่ยงเสียงดัง หาวิธีป้องกันก่อนสูญเสียการได้ยินก่อนวัย

ทุกวันนี้เราหันไปทางไหนก็เจอแต่คนใส่หูฟัง บางคนใส่นานติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน บางคนใส่แล้วเปิดเสียงดังจนคนข้าง ๆ ได้ยิน รู้ตัวอีกทีก็รู้สึกว่าการได้ยินผิดปกติไม่ชัดเหมือนเดิม ซึ่งอาจเป็นอาการของ ‘โรคประสาทหูเสื่อม’ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ภาวะหูตึง’ ที่ปกติมักจะพบได้ในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันกลับพบเจอได้มากขึ้นในกลุ่มคนที่ยังอายุไม่เยอะ วันนี้  ผศ.พญ. กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ โสต ศอ นาสิก (Otolaryngology) นาสิกวิทยาและโรคภูมิแพ้ ศูนย์หู คอ จมูก จะมาเล่าถึงอาการของโรคประสาทหูเสื่อม พร้อมแนะนำแนวทางการป้องกันและวิธีการรักษา เพื่อดูแลให้หูของเราสุขภาพดีตามวัย

อายุเยอะ-เสียงดัง กระตุ้น ‘โรคประสาทหูเสื่อม’

โรคประสาทหูเสื่อม คือภาวะการสูญเสียการได้ยินเนื่องจากเซลล์ประสาทหูเสื่อมสภาพ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้น การได้ยินเสียงดังบ่อย ๆ  การอักเสบหรือติดเชื้อ เป็นต้น โดยเฉพาะช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร่างกายจะสร้างเซลล์ประสาทการได้ยินขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่ตายได้ไม่เท่าตอนอายุน้อย ทำให้การได้ยินเสื่อมลง เรียกว่าอาการประสาทหูเสื่อมตามธรรมชาติ อีกทั้งถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ กรรมพันธุ์ โรคเบาหวาน หรือโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ ก็ยิ่งกระตุ้นให้การได้ยินเสื่อมเร็วขึ้นได้เช่นกัน ด้าน ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์  อธิบายเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมว่า “เรื่องการใส่หูฟัง จริง ๆ ก็มีผลทำให้การได้ยินลดลงพอสมควร โดยเฉพาะหูฟังประเภทที่ใส่เข้าไปในรูหู พอเปิดเสียงดังมาก ๆ จะมีความดันเข้าไปในหู ทำให้เซลล์ประสาทหูทำงานหนัก ส่งผลให้สูญเสียการได้ยินก่อนวัยอันควร”

“วิธีการสังเกตว่าเราเริ่มมีอาการประสาทหูเสื่อมหรือยังนั้นทำได้ง่ายๆ โดยอาการที่เห็นได้ชัด คือ เปิดทีวีหรือลำโพงเสียงดังจนรบกวนคนอื่น ไม่ได้ยินเสียงคนข้าง ๆ พูด ในบางคนอาจมีปัญหาเสียงรบกวนในหู อาทิ เสียง วี๊ ๆ เหมือนเสียงลม หรือเสียงซ่า ๆ คล้ายเสียงทีวีเสีย ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ อธิบาย

โรคหูตึงเฉียบพลันภัยร้ายที่ไม่ทันตั้งตัว

โรคประสาทหูเสื่อมโดยทั่วไปจะค่อย ๆ สูญเสียการได้ยิน ซึ่งมักเป็นไปตามวัย แต่มีอีกโรคหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการได้ยินแบบฉับพลัน คือ ‘โรคหูตึงเฉียบพลัน’ ที่เกิดได้ในทุกช่วงวัย บางคนมีอาการตื่นมาตอนเช้าหูอื้อไปหนึ่งข้าง หรืออยู่ดีๆ ก็เวียนหัวและหูไม่ได้ยินขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ประสาทหูบาดเจ็บจากการได้ยินเสียงดัง (Acoustic Trauma) อุบัติเหตุ เนื้องอกบริเวณฐานสมอง หรือโรคอื่นๆที่มีผลต่อระบบประสาท โดย ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ อธิบายวิธีรักษาโรคนี้ว่า “โรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันยิ่งมารักษาเร็วก็ยิ่งมีโอกาสหายสูง ซึ่งสามารถรักษาได้หลายวิธี ได้แก่ การให้สเตียรอยด์แบบรับประทาน (high dose steroids) เป็นเวลา 5 – 7 วัน การฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในหูชั้นกลางผ่านเยื่อแก้วหู (intratympnanic steroid injection) เพื่อช่วยลดการอักเสบของประสาทหู นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีวิธีที่เรียกว่า Hyperbaric Oxygen Therapy ที่จะใช้ออกซิเจนความดันสูงช่วยในการรักษา จะช่วยเพิ่มโอกาสที่การได้ยินจะกลับมาดีขึ้น”

ประสาทหูเสื่อมฟื้นฟูยาก ป้องกันให้ดีก่อนเสียการได้ยินระยะยาว

ปกติแล้วโรคประสาทหูเสื่อมถือว่าเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ เพราะการฟื้นฟูประสาทการได้ยินนั้นทำได้ยาก จึงทำได้เพียงประคับประคองไม่ให้เสื่อมเร็ว เช่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่เสียงดัง หากเป็นโรคเบาหวานหรือโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ ก็ยิ่งต้องควบคุมอาการให้ดีเพื่อไม่ให้ไปกระตุ้นอาการประสาทหูเสื่อม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถรักษาได้ แต่คนที่สูญเสียการได้ยินมาก ๆ ก็สามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาจนมีขนาดกะทัดรัด และสามารถปรับระดับการได้ยินให้เหมาะสมกับแต่ละคน

 

“โรคประสาทหูเสื่อมถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น แต่เมื่อในปัจจุบันเราเจอกับเสียงดังบ่อยขึ้นกว่าเดิมทั้งในและนอกบ้าน การเสื่อมของหูก่อนวัยอันควรอาจเกิดขึ้นกับหลาย ๆ คนได้ เราจึงควรป้องกันหูของเรา ด้วยการหลีกเลี่ยงเสียงดังที่ไม่จำเป็น เพื่อให้หูของเราได้ยินชัดตามวัยและไม่สูญเสียการได้ยินก่อนวัยอันควร” ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์  กล่าวทิ้งท้าย

 

ผู้ที่สนใจต้องการปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถติดต่อได้ที่ ชั้น 5 ศูนย์หู คอ จมูก หรือโทรนัดหมาย 02-079-0050 เวลา 08.00-20.00 น. หรือใช้บริการ Telemedicine ปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน ViMUT Application คลิก

Skip to content