ที่สามารถติดต่อได้ ภายใต้โครงการ #รู้ว่าเสี่ยง เลี่ยงเสียศูนย์ (#KnowMyRisk)
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำโครงการ “ให้ความรู้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อได้” ภายใต้โครงการ #รู้ว่าเสี่ยง เลี่ยงเสียศูนย์ (#KnowMyRisk) ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่ โรคนิวโมคอคคัสที่ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ ซึ่งเน้นเรื่องการเฝ้าระวังตนเอง การเข้ารับวัคซีนที่เหมาะสม รวมถึงการดูแลรักษา และการฟื้นฟูตนเองแก่ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงสูง
ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี อดีตนายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขา อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯ ว่า “สถานการณ์โรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ในปัจจุบันมีแนวโน้มการแพร่ระบาดที่สูงขึ้น และถึงแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะผ่อนคลายลง และเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่การเฝ้าระวังตนเอง และการป้องกันยังคงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด จากรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังคงพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 อันเกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โดยทั่วไปผู้ติดเชื้อมักมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย โดยอาจพบอาการหายใจลำบาก โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงเอชไอวี โรคมะเร็ง และการตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการรุนแรง นอกจากนี้ โรคไข้หวัดใหญ่ยังเป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งโรคนี้เกิดจากเชื้ออินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza virus) สามารถติดต่อโดยการหายใจเอาละอองน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยที่ไอหรือจาม และการสัมผัสมือหรือการใช้สิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ ร่วมกับผู้ป่วย อาการมักมีไข้สูงเฉียบพลัน ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่ผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน และอาการรุนแรง นอกจากโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่ยังต้องเฝ้าระวังแล้ว การป้องกันตนเองจากเชื้อโรคต่าง ๆ ก็ละเลยไม่ได้ อย่าง เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ และโรคไอพีดี เป็นเชื้อที่พบได้ทั่วไปในโพรงจมูกและลำคอ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งตัวเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายคล้ายการแพร่ของโรคไข้หวัด ทำให้โรคนี้ติดต่อกันได้ง่าย และเกิดได้กับทุกคนในทุกช่วงวัย โดยหากได้รับเชื้อ นิวโมคอคคัสเข้าสู่ร่างกาย ถ้าร่างกายแข็งแรงดีก็มักไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอก็จะทำให้เกิดโรค โดยเราสามารถป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสได้ด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และการได้รับวัคซีนไอพีดี เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกของการป้องกันโรคปอดอักเสบ อีกทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบยังมีความสำคัญต่อผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโควิด-19”
“สำหรับมาตรการการป้องกันทุก ๆ ภาคส่วน ยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนเฝ้าระวัง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะจากการติดเชื้อตามธรรมชาติเอง หรือจากวัคซีนจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป รวมถึงไวรัสมีการกลายพันธุ์ อาจทำให้ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายมีอยู่เดิมไม่สามารถจะต้านทาน และช่วยในการป้องกันการเกิดโรครุนแรงได้ ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่ม 608 ได้แก่ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ควรได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหากเคยติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายมาแล้วเกิน 3 เดือน โดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นเข็มที่เท่าไร และแนะนำให้ฉีดกระตุ้น 1 เข็มทุกปี และประชาชนสามารถรับการฉีดวัคซีน โควิด-19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง แต่หากไม่ได้ฉีดพร้อมกัน สามารถฉีดเมื่อไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง โดยเฉพาะในช่วงนี้ ซึ่งเป็นเทศกาลปลายปีประชาชนมีการเดินทางท่องเที่ยว หรือเลี้ยงสังสรรค์ รวมถึงเดินทางกลับภูมิลำเนาต่างจังหวัดกันเป็นจำนวนมาก การป้องกันตัวเองเพื่อลดโอกาสการติดเชื้อทางเดินหายใจจึงมีความจำเป็น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้”
More Stories
J&C เปิดตัวสินค้าใหม่ “HERBALANCE”
โรงพยาบาลวิมุต สถาบันประสาทวิทยา และ Agnos health ร่วมทดสอบการใช้งาน ‘AN AN Bot’ AI ช่วยตอบคำถามผู้ป่วย
ครั้งแรกของซุปตาร์ตัวพ่อ “ณเดชน์ คูกิมิยะ” กับการก้าวสู่วงการนวัตกรรมความงาม!