ต้องเร่งปรับตัวและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กรุงเทพมหานคร – ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา ผู้อำนวยการโครงการ SUCCESS สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้รับเชิญจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นวิทยากรในช่วงเสวนา แนวทางการขับเคลื่อนดำเนินงานด้าน Climate Resilience City เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” โดยนำเสนอประเด็น “Urban Climate Resilience” แนวคิด หลักการ และการขับเคลื่อนการบริหารจัดการเมืองให้ปรับตัวและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยให้มุมมองว่า ปัญหาจากการกลายเป็นเมืองเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นประเด็นปัญหาใหม่ทั้งทางด้านกายภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น การพัฒนาเมืองในปัจจุบันยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียม การพัฒนาเมืองอย่างไร้ทิศทาง จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงและความเปราะบางของชุมชนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเมือง และผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางกายภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม ความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่ทำให้เกิดความเปราะบางของเมืองและชุมชนอย่างแท้จริง ดังนั้นในการแก้ปัญหาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทั้ง แนวทางการพัฒนา แผน นโยบาย วิถีปฏิบัติ ซึ่งโจทย์ใหญ่ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมและสร้างความเท่าเทียม
“กระบวนการในการสร้าง “Climate Resilience” เป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิมอีก พร้อมทั้งต้องเรียนรู้ทบทวนบทเรียนจากในอดีตและเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ถ้าจะสร้างเมืองให้เป็น Urban climate resilience หรือ Resilient City จำเป็นต้องมีการสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptive capacity, climate adaptation) มีการจัดการความเสี่ยง และผลกระทบ จากภัยพิบัติ การวางแผน นโยบาย แนวทางปฏิบัติ และการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงคนในทุกระดับชั้นและเท่าเทียมกัน มีการเข้าถึงระบบเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของคนชายขอบ คนยากจน และกลุ่มคนเปราะบาง และมีการเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติและการดูแลกำกับเมือง”
ดร.ผกามาศ ยังให้ข้อคิดอีกว่า “แนวทางสนับสนุนให้เมืองเป็นแบบ “Urban climate resilience หรือ Resilient City จำเป็นเน้นให้เมืองเติบโตด้วยการรักษาระบบนิเวศ โดยบูรณาการแนวทางการปรับตัวที่อาศัยระบบนิเวศ (Eco-based approaches: EbA) และแก้ไขปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นฐาน (Nature-based solutions: NbS) โดยให้ความสำคัญกับ ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ และรักษาแหล่งอาหารควบคู่กันไปด้วย”
สำหรับการเสวนา แนวทางการขับเคลื่อนดำเนินงานด้าน Climate Resilience City เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
จัดขึ้นเพื่อเสริมองค์ความรู้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้าน Climate Resilience City” ผ่านระบบ Zoom Meeting ให้กับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ รางวัลถ้วยพระราชทานเทศบาลด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ และรางวัลชนะเลิศองค์การบริหารส่วนตำบลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ จำนวน 43 แห่ง ทั่วประเทศ
More Stories
รฟฟ.บีแอลซีพี ร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำกว่า 1.6 ล้านตัว ต่อเนื่องเป็นปีที่ 22 สานต่อ ESG หนุน SDGs
OR ตอกย้ำแนวคิดสังคมสะอาด มอบรางวัลโครงการ “แยก แลก ยิ้ม School Camp ประจำปี 2567”
เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ร่วมบรรยายในงานประชุม The 58th