โดย.พญ.อริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital
อาการปวดท้อง เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าไม่ใช่โรคกระเพาะ และไม่ได้มีสาเหตุมาจากการกินอาหารไม่ตรงเวลา (ไม่มีแผลที่กระเพาะอาหาร) แต่เป็นการสั่งการของสมอง อาการแบบนี้เรียกว่า “เครียดลงกระเพาะ” ยิ่งเครียดก็ยิ่งกระตุ้นให้กระเพาะอาหารเกิดการบิดตัว และหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ ทำให้เมือกในกระเพาะอาหารเสียสมดุลและเกิดการระคายเคืองในช่องท้องได้ จึงเห็นได้ชัดว่าความเครียด ไม่ได้ส่งผลร้ายต่อจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพกายของเราได้เลยทีเดียว
ดังนั้นหากรู้สึกว่าตัวเองเครียดมากเกินไป ควรหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ผ่อนคลายตัวเอง เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง วาดรูป ปลูกต้นไม้ นั่งสมาธิ ทำอาหาร หรือหางานอดิเรกที่ตัวเองชื่นชอบ เพื่อช่วยลดความเครียด และการวิตกกังวล
6 วิธีเด็ดขจัดความเครียด
แก้ไขที่สาเหตุของความเครียด เราต้องหาสาเหตุว่ามาจากเรื่องอะไร คนส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้ตัวเองเครียดอยู่อย่างนั้น จนไม่ได้แก้ไขและกลายเป็นโรคเรื้อรังในที่สุด เหมือน “โรคเครียดลงกระเพาะ” ดังนั้น ในการพิชิตความเครียดตามแบบฉบับของนักจิตวิทยา มี 6 วิธีง่ายๆ คือ
- สังเกตตนเอง
เรากำลังโมโห เหวี่ยงวีน เกรี้ยวกราด หัวร้อนกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่หรือไม่ หรือมีอาการรับประทานข้าวได้น้อยลง ขับถ่ายยาก นอนไม่หลับ ฯลฯ อยู่หรือไม่ เพราะอาการที่ร่างกายแสดงออกเหล่านี้ เป็นสัญญาณบอกเราว่า เรากำลัง “มีความเครียด” หากเราสังเกตและสำรวจได้เร็ว เราก็สามารถผ่อนคลายและรับมือกับความเครียดของเราได้เร็ว รู้จักสงบลงได้เร็วขึ้น ปล่อยปลดความเครียดออกไปได้เร็วขึ้น
- ผ่อนคลายจิตใจ
การผ่อนคลายจิตใจมีหลากหลายวิธี วิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำ และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด คือ ควบคุมลมหายใจ “สูดลมหายใจเข้า ปล่อยลมหายใจออกยาวๆ” ถ้าเราหายใจช้าลง และลึกขึ้น ร่างกายของเราก็จะได้รับออกซิเจนแบบมีคุณภาพ ทำให้ใจเย็นลง สมองปลอดโปร่ง มีสติในการคิดแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น และความเครียดก็จะสามารถลดลงได้ตามลำดับ
- 3. หากิจกรรมที่ชื่นชอบ มีความสุข
เราควรไปทำกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกสดชื่น มีความสุข สนุกสนาน เช่น ไปช็อปปิ้ง ไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เราอยากไป ทะเล ภูเขา หรือ ไปดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย นั่งชิว ๆ ในคาเฟ่ ทานอาหารในร้านที่บรรยากาศดี ๆ อ่านหนังสือเพื่อผ่อนคลาย การหาเวลาให้ตัวเองได้ทำกิจกรรมที่ชอบเหล่านี้ เพื่อลดความเครียดที่เกิดขึ้นได้
- 4. หาสาเหตุ และหาหนทางแก้ไข
เราต้องหาสาเหตุของความเครียดว่ามาจากไหน เกิดเพราะอะไร เช่น จากงาน จากหัวหน้างาน จากเพื่อนร่วมงาน ลองปรึกษาหารือกับผู้บริหารองค์กร ในการปรับเปลี่ยนหรือโยกย้าย ก็ช่วยผ่อนคลายความเครียด เพื่อหาหนทางการแก้ไขความเครียดที่สะสมออกไป หรือความเครียดเกิดจากครอบครัว คู่ครอง ก็อาจจะลองจับมือกันไปหานักจิตวิทยา เพื่อทำจิตบำบัดครอบครัว คู่ครอง ในการหาทางออกร่วมกัน เป็นต้น
- ระบายกับเพื่อนสนิท คนที่เราไว้ใจ
หากเรามีเพื่อนสนิทที่เข้าใจเรา ก็เปิดใจเล่าให้คนที่สนิทใจฟังได้ เพื่อผ่อนคลายเรื่องราวที่ทำให้เราเครียด แม้ว่าผู้ที่รับฟังจะไม่สามารถช่วยอะไรเราได้ในขณะนั้น แต่การแบ่งปันเรื่องราวให้คนที่ไว้ใจฟัง และมีคนรับฟังอย่างตั้งใจ ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามีคนเข้าใจ มีคนที่เกิดความรู้สึกร่วมไปกับเรา แต่ในกรณีที่มีความทุกข์ใจแต่ไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง ก็สามารถเล่าให้จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาฟังได้
- ขอคำปรึกษาจากจิตแพทย์
วิธีแก้ไขที่ดี คือ การรักษา ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่ง รพ. BMHH มีจิตแพทย์เฉพาะทางและนักจิตวิทยาที่พร้อมให้บริการอยู่เสมอ
ลองเช็กอาการเหล่านี้ว่าเราเป็น โรคเครียดลงกระเพาะหรือไม่
- ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่ ตอนท้องว่าง
- เสียดหน้าอก อาหารไม่ย่อย
- รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน
- แน่นท้อง ท้องอืด เรอเหม็นเปรี้ยว
- นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท
วิธีป้องกันโรคเครียดลงกระเพาะ
- ต้องไม่เครียด
- ทานอาหารให้ตรงเวลา และครบทั้ง 3 มื้อ ปริมาณอาหารในแต่ละมื้อต้องไม่มากเกินไป
- ไม่ทานอาหารรสจัด
- เลี่ยงของมัน ของทอด อาหารที่ย่อยง่าย ๆ เช่น เนื้อปลา
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- งดแอลกอฮอล์
วิธีป้องกัน โรคเครียดลงกระเพาะที่ดีที่สุด คือ การเอาตัวเองออกมาให้พ้นจากความเครียดให้ได้มากที่สุด ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อจะไม่เสี่ยงกับโรคเครียดลงกระเพาะ
More Stories
J&C เปิดตัวสินค้าใหม่ “HERBALANCE”
โรงพยาบาลวิมุต สถาบันประสาทวิทยา และ Agnos health ร่วมทดสอบการใช้งาน ‘AN AN Bot’ AI ช่วยตอบคำถามผู้ป่วย
ครั้งแรกของซุปตาร์ตัวพ่อ “ณเดชน์ คูกิมิยะ” กับการก้าวสู่วงการนวัตกรรมความงาม!