ปัจจุบันเราเริ่มพบว่า ผู้ป่วยเป็น STROKE พบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยลงในจำนวนที่มากขึ้น โดยเกิดกับผู้ที่อายุต่ำกว่า 45 ปี และจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขไทยระบุว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2566 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 349,126 ราย เสียชีวิต 36,214 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี ซึ่งปกติแล้วโรคนี้มักจะเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ทุกเพศทุกวัย แต่ในปัจจุบันพบได้มากกับผู้ที่มีอายุ 18-50 ปี ในประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นกว่าเมื่อก่อน เรียกว่า “โรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย” (stroke in the young) โดยมีสาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดในสมองมากกว่าคนอายุมาก
พญ. จิรัชญา ดีสุวรรณ อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2 เผยถึงสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย มักมาจากผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย มีภาวะเครียด และโรคอ้วน
3 ปัจจัยสำคัญที่อาจก่อให้เกิดโรคสมองในคนอายุน้อย
- 1. หัวใจผิดปกติ สามารถแบ่งย่อยได้เป็น
– โครงสร้างของหัวใจผิดปกติ ที่พบบ่อยคือ มีรูรั่วที่ผนังกั้นห้องหัวใจแต่กำเนิด (patent foramen ovale)
– หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น atrial fibrillation, atrial flutter, heart block เป็นต้น
- 2. สาเหตุจากหลอดเลือดผิดปกติ สามารถแบ่งย่อยเป็น
– โครงสร้างหลอดเลือดสมองผิดปกติ (vasculopathy) เช่น โรคโมยาโมยา, ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
– หลอดเลือดอักเสบ (vasculitis) มักเป็นผลมาจากโรคทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ (autoimmune disease) เช่น SLE
โรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการอักเสบและอาการผิดปกติในอวัยวะต่างๆของร่างกาย
- 3. สาเหตุจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (hypercoagulable state) โดยมักสัมพันธ์กับโรคทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ (autoimmune disease) หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น
สังเกตุสัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย (stroke in the young)
- BEFAST สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง
B = Balance เดินเซ เวียนศีรษะ บ้านหมุนฉับพลัน
E = Eyes ตาพร่ามัว มองไม่เห็น เห็นภาพซ้อนฉับพลัน
F = Face Dropping ใบหน้าชาหรืออ่อนแรง ยิ้มแล้วมุมปากตก
A = Arm Weakness แขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง กำมือไม่ได้
S = Speech Difficulty ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดไม่ได้ พูดไม่ออก
T =Time to call รีบโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่และนำส่งโรงพยาบาลทันที
วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคสมองในวัยทำงาน
- ตรวจวัดความดันเลือดอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่เกณฑ์ปกติ ลดน้ำหนักเมื่อเริ่มสูงเกินเกณฑ์
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- เลือกรับประทานอาหาร โดยลดอาหารที่มีคลอเรสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวสูง และทานผักผลไม้ให้มากขึ้น
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำปีทุกปี
การรักษานั้นแตกต่างไปตามสาเหตุการเกิด และความรุนแรงของโรค ดังนั้นส่วนสำคัญในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองในคนอายุน้อย (stroke in the young) คือการหาสาเหตุโดยละเอียด อย่างรวดเร็ว และครอบคลุมโดยทีมแพทย์เฉพาะทาง ก็จะช่วยลดโอกาสที่จะพิการหรือเสียชีวิตได้ลดลงมากเท่านั้น
รักใคร ห่วงใคร อย่าลืมดูแลสมองให้กันและกัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2
More Stories
J&C เปิดตัวสินค้าใหม่ “HERBALANCE”
โรงพยาบาลวิมุต สถาบันประสาทวิทยา และ Agnos health ร่วมทดสอบการใช้งาน ‘AN AN Bot’ AI ช่วยตอบคำถามผู้ป่วย
ครั้งแรกของซุปตาร์ตัวพ่อ “ณเดชน์ คูกิมิยะ” กับการก้าวสู่วงการนวัตกรรมความงาม!