CSR.
กฟผ. ทยอยส่งมอบหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ผลิตโดยทีมช่างอาสา กฟผ. ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยและมีความสะดวกมากขึ้นขณะปฏิบัติหน้าที่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ประเดิมมอบโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทีมแพทย์ระบุข้อดี เบา คล่องตัว ไม่มีเสียงพัดลมรบกวน ที่สำคัญใช้งานได้นานถึง 8 ชั่วโมง
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้เริ่มทยอยส่งมอบหมวกป้องกันเชื้อ PAPR (Powered Air Purifying Respirator) ซึ่งผลิตโดยทีมช่างอาสา กฟผ. ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จังหวัดสมุทรสาคร และโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จังหวัดนครปฐม รวมแล้วเกือบ 20 ชุด ก่อนทยอยมอบให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ หลังพบปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญความลำบากในการปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยทั้งในห้อง ICU ห้องผ่าตัด หรือห้องปลอดเชื้อ จนกระทั่งบางรายเป็นลมในชุด PPE ตามที่มีกระแสข่าวในโลกโซเชียล กฟผ. จึงได้เริ่มพัฒนาการผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ร่วมกับทีมแพทย์จนมั่นใจในการใช้งานแล้วจึงทยอยส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ตามที่ได้มีการสำรวจความต้องการใช้งานในเบื้องต้น
เดิม กฟผ. ตั้งใจผลิตหมวกป้องกันเชื้อ PAPR จำนวน 300 ใบ แต่เนื่องจากพนักงาน กฟผ. ต้องการมีส่วนร่วมกับประชาชนจึงได้เกิดการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์ม “เทใจ” จนได้เงินสนับสนุนมาซื้ออุปกรณ์การผลิตอีก 200 ใบ รวมเป็น 500 ใบ โดยมีศูนย์กลางการประกอบหลักที่ กฟผ.สำนักงานหนองจอก และกระจายไปยังเขตเขื่อน โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีความสามารถภายใต้การควบคุมมาตรฐานกลางเดียวกัน ซึ่งจะผลิตในห้อง Clean Room เพื่อควบคุมความสะอาดตลอดขั้นตอนการผลิต
นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว กล่าวว่า ในการต่อสู้กับโควิด-19 ชุดป้องกันเป็นเสมือนเสื้อเกราะในการออกรบ แต่ปัญหาที่พบก็คือชุด Coverall เป็นชุดที่ใช้แล้วทิ้งจึงสิ้นเปลืองมาก อีกทั้งยังร้อนอบอ้าว แต่การมีหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ทำให้ประหยัดชุด Coverall ได้ อีกทั้งยังดูแลผู้ป่วยได้นานขึ้น เพราะแบตเตอรี่สามารถอยู่ได้ถึง 8 ชั่วโมง โดยไม่รู้สึกอ่อนล้า และสามารถปกป้องบุคลากรทางการแพทย์จากเชื้อโควิด-19 ได้อีกด้วย
ด้าน พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เปิดเผยว่า การสวมชุด PPE ทำให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ยากลำบาก เพราะตัวชุดค่อนข้างใหญ่และต้องใช้คู่กับหน้ากาก N95 ทำให้ร้อนและหายใจไม่ออก แต่หมวกป้องกันเชื้อ PAPR มีลมเป่าค่อนข้างเย็น ทำให้หายใจง่าย และสามารถทำงานในอากาศร้อนได้ นอกจากนี้ การสวมหน้ากากหรือ Face Shield ทำงาน เมื่ออากาศร้อนจะทำให้เกิดฝ้า หมวกป้องกันเชื้อ PAPR ก็จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้
ส่วน นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า หมวกป้องกันเชื้อ PAPR จะช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สู่บุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งหมวกป้องกันเชื้อ PAPR ของ กฟผ. ยังมีน้ำหนักเบา คล่องตัวเวลาใช้งาน ไม่มีเสียงรบกวนจากพัดลมทำให้สามารถสื่อสารกับทีมได้ดีขึ้น และแบตเตอรี่ที่อยู่ได้นานทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นไปได้ดีขึ้น
More Stories
ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จับมือ กรีนเยลโล่ ปรับโซลูชั่นระบบปรับอากาศใหม่ทั้งโรงงานเพื่อประสิทธิภาพที่ยั่งยืน
ไทยออยล์ ยืนยันใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดัน ให้ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ชำระค่าตอบแทนค้างจ่ายให้กับผู้รับเหมาช่วง
“กกพ.” เคาะ ลดเงินประกันการใช้ไฟฯ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ประวัติดี