26 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

3 หน่วยงาน ผนึกกำลังรองรับการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ช่วยลดมลภาวะ กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

พลังงาน

กฟผ. MEA รฟท. ผนึกกำลังร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รับเทรนด์การเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ฤกษ์ดีเปิดสถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักร และสถานีต้นทางบางซื่อ พร้อมส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้ารองรับสถานีกลางบางซื่อและโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) รวมถึงรองรับการใช้ไฟฟ้าพื้นที่เมืองมหานครในอนาคต เริ่มใช้งาน ก.ค. นี้

วันนี้ (21 มิถุนายน 2564) นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) และนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมพิธีเปิดสถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักร กฟผ. และสถานีต้นทางบางซื่อ MEA เพื่อส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับสถานีกลางบางซื่อและโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ณ สถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักร กรุงเทพมหานคร

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ร่วมกับ MEA และ รฟท. ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักรเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้ารองรับการใช้ไฟฟ้าของสถานีกลางบางซื่อ และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน  ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระบบรางของไทยแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งระบบรางที่สำคัญในอนาคตและยังถือเป็นโอกาสที่ดีในการ Restart กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

“สถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักร เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนมีนาคม 2560 พร้อมส่งจ่ายไฟฟ้าให้สถานีต้นทางบางซื่อ MEA เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 เป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูงแบบใช้ฉนวนก๊าซ (Gas Insulated Substation: GIS) โดยเชื่อมโยงกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงลาดพร้าว แจ้งวัฒนะ และพระนครเหนือ ด้วยสายส่งไฟฟ้าแรงสูงระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 4 วงจร พร้อมออกแบบและติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงแบบพิเศษที่มีเพียงต้นเดียวในประเทศไทยให้สามารถใช้งานในพื้นที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควบคุมความสูงของเสาไม่ให้ส่งกระทบต่อระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าเดิม โดยสามารถส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 2,400 เมกะวัตต์ หรือเทียบเท่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง รองรับการใช้ไฟฟ้าของสถานีกลางบางซื่อ และโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรองรับการคมนาคมของประเทศไทยในอนาคต ซึ่งจะปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. ได้พัฒนานวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง “ล้อ ราง เรือ” สร้างความสะดวกสบายในการเดินทางให้กับประชาชน สามารถช่วยลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 จากภาคการขนส่ง นับเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามแนวคิด EGAT for ALL เพราะ กฟผ. เป็นของทุกคน ทำเพื่อทุกคน”

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA เริ่มดำเนินการก่อสร้างสถานีต้นทางบางซื่อ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560 มีประสิทธิภาพรองรับปริมาณพลังงานไฟฟ้าสูงถึง 1,800 MVA (เมกะโวลต์แอมป์) เพื่อรองรับการจ่ายไฟฟ้าพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โดยผ่านการควบคุมบริหารจัดการระบบไฟฟ้าด้วยระบบ SCADA ที่ทันสมัย ทั้งยังออกแบบให้มีระบบสำรองไฟฟ้าในกรณีเหตุฉุกเฉินโดยบูรณาการร่วมกับ กฟผ. ในการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากแหล่งจ่ายสถานีไฟฟ้าแรงสูงข้างเคียงของ กฟผ. ในพื้นที่โดยรอบ 3 สถานี (สถานีไฟฟ้าแรงสูงแจ้งวัฒนะ พระนครเหนือ และลาดพร้าว) รวมถึงการเชื่อมโยงจากสายส่งไฟฟ้าจากสถานีย่อยข้างเคียงของ MEA เอง ทำให้เสถียรภาพของระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงยิ่งขึ้น โดย MEA มีความพร้อมในการจัดการควบคุมจ่ายไฟฟ้าให้กับทุกสถานีรถไฟฟ้าทั้งในปัจจุบัน นอกจากนี้ MEA ได้เตรียมความพร้อมรองรับการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าสำหรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมาทดแทนรถยนต์น้ำมันต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชน ลดปัญหามลพิษทางอากาศ ตลอดจนการติดตั้งและพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ MEA เชื่อมต่อ Platform ระบบบริหารจัดการเครื่องอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ วิเคราะห์ข้อมูลการชาร์จ เชื่อมต่อกับ MEA EV Application รองรับการใช้งานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจรในพื้นที่ให้บริการได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ MEA จึงมีความพร้อมพัฒนางานบริการเทคโนโลยีด้านระบบไฟฟ้าที่ทันสมัยขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร  

ด้านนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ รฟท. กล่าวว่า พลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งสำหรับสถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ ซึ่งจะเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในฐานะศูนย์กลางระบบรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่เชื่อมต่อทุกรูปแบบการเดินทางของระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งทางราง ทางบก ทางอากาศ  ซึ่งโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ถือเป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางที่เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชนระหว่างพื้นที่ใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยคาดว่าสามารถเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในเดือนกรกฎาคมนี้ และให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปลายปี รองรับรองรับประชาชนที่มาใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ จำนวน 624,000 คน ต่อวัน และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน จำนวน 463,000 คน ต่อวัน ทำให้ทุกวันแห่งการเดินทางมีแต่รอยยิ้มแห่งความสุขที่เกิดจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตลอดไป

Skip to content