20 พฤศจิกายน 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

Carbon Markets Club ร่วมลงนามกับสี่สมาคมตลาดคาร์บอนแห่งประเทศอาเซียน ในการประชุม COP29 ที่อาเซอร์ไบจาน

สนับสนุนกรอบการดำเนินงานตลาดคาร์บอนร่วมของอาเซียน

 

สมาคมตลาดคาร์บอนหลัก 5 แห่งจากประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และอาเซียน ร่วมกัน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Collaboration – MoC) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 หรือ COP29 ที่จัดขึ้น ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนา “กรอบการดำเนินงานตลาดคาร์บอนร่วมของอาเซียน” (ASEAN Common Carbon Framework – AACF) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานและแนวทางสำหรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใส ร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ โดยมี นายนิก นัซมี บิน นิก อะฮ์มัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของประเทศมาเลเซีย Mr. Stanley Loh ปลัดกระทรวงกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมของประเทศสิงคโปร์ Mr. Ahmad Kamrizamil Mohd Riza เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศอาเซอร์ไบจาน และนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ร่วมก่อตั้ง Carbon Markets Club ร่วมเป็นพยานกิตติมศักดิ์

ผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ เป็นผู้แทนของสมาคมต่าง ๆ จากภาคเอกชนของประเทศในอาเซียน ได้แก่

  • Carbon Markets Club จากประเทศไทย ลงนามโดย นางกลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธาน Carbon Markets Club
  • Malaysia Carbon Market Association (MCMA) จากประเทศมาเลเซีย โดย Renard Siew
  • ASEAN Alliance on Carbon Market (AACM) โดย Natalia Rialucky
  • Indonesia Carbon Trade Association (IDCTA) จากประเทศอินโดนีเซีย โดย Yoshan Fazri
  • Singapore Sustainable Finance Association (SSFA) จากประเทศสิงคโปร์ โดย Kavitha Menon

ภายใต้กรอบการดำเนินงานตลาดคาร์บอนร่วมของอาเซียน (AACF) มีการวางแนวทางเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการค้าคาร์บอนเครดิตอย่างยั่งยืนในภูมิภาค โดยมีจุดมุ่งหมายสนับสนุนให้เกิดโครงการคาร์บอนเครดิตที่ได้มาตรฐาน เสริมสร้างศักยภาพบุคลากรผ่านการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี  พร้อมทั้งสนับสนุนความร่วมมือทางธุรกิจข้ามพรมแดนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตลาดคาร์บอนที่เชื่อมโยงกัน ลดอุปสรรคในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ และร่วมขับเคลื่อนภูมิภาคสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้มีนายนิก นัซมี บิน นิก อะฮ์มัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมของประเทศมาเลเซียเป็นพยาน เขากล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า “ความร่วมมือนี้เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของตลาดคาร์บอนในภูมิภาคอาเซียน กรอบการดำเนินงานตลาดคาร์บอนร่วมของอาเซียนจะช่วยให้ยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอาเซียนเป็นรูปธรรม และด้วยความร่วมมือนี้ เราหวังว่าจะเห็นอาเซียนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลก โดยอาศัยทั้งเทคโนโลยีและการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ”

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้ง Carbon Markets Club กล่าวว่า “ในฐานะคลับรักษ์โลกลดก๊าซเรือนกระจกของภาคเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่สนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและสร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราภูมิใจที่ได้เติบโตจากสมาชิกผู้ก่อตั้ง 11 รายสู่ 1,300 รายภายในเวลาเพียง 3 ปี เราให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างตลาดคาร์บอนที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เรามีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรในระดับภูมิภาค สนับสนุนกรอบการดำเนินงานตลาดคาร์บอนร่วมของอาเซียน เพื่อปูทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนและคาร์บอนต่ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างความมั่นใจว่าความพยายามร่วมกันของเราจะส่งผลในระดับโลกอย่างแท้จริง”

Carbon Markets Club ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 โดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และอีก 9 องค์กรพันธมิตร เป็นการริเริ่มของภาคเอกชนในรูปแบบชมรมที่ไม่แสวงหาผลกำไรแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการผลักดันตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ และให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 1,300 ราย ให้บริการซื้อขายคาร์บอนเครดิตและใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) พร้อมทั้ง มีการนำเสนอเครื่องมือประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์สำหรับองค์กร (CFO) และเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์สำหรับบุคคล (MyCF) โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังมีการจัดสัมมนาออนไลน์ และการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของสังคมในวงกว้างในตลาดคาร์บอนและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

Skip to content