8 ธันวาคม 2024

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

สลด! กระทงหลงทางTEI เผยพบเข็ม ตะปู ลูกแม็ก และวัสดุอันตรายจำนวนมากในกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ

แม้ว่าช่วง 3-4 ปีนี้ได้มีการส่งเสริมการลอยกระทงดิจิทัลหรือลอยในพื้นที่ปิด เพื่อสะดวกการจัดเก็บและเป็นการลดปริมาณกระทงและเศษวัสดุจากการทำกระทง รวมทั้งการส่งเสริมผลิตกระทงจากวัสดุจากธรรมชาติ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากระทงส่วนใหญ่เกินร้อยละ 90  ทำจากวัสดุธรรมชาติและพบว่าประชาชนบางส่วนยังคงลอยในแม่น้ำ ลำคลอง รวมถึงทะเล ยึดกิจกรรมต่าง ๆ ตามประเพณีในวันลอยกระทง โดยเฉพาะการประดิษฐ์และจำหน่ายกระทง ที่แม้ว่าในปีนี้ประชาชนจะตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอันตรายต่อสัตว์น้ำมากขึ้น โดยจำนวนกระทงในภาพรวมลดลงทั่วประเทศ   แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือยังพบเข็ม ตะปู คลิบหนีบกระดาษ และวัสดุอันตรายอื่น ๆ ในกระทงเป็นจำนวนมาก โดยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังค่ำคืนลอยกระทง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ผสานความร่วมมือ 3 ภาคส่วนสำคัญ เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี และกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)  ร่วมกันเก็บและแยกขยะกระทง ณ ชายหาดบางแสน พบปริมาณขยะกระทงปี 2567 อยู่ที่ 387 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 90 ของขยะทะเลทั้งหมดที่อาสาเก็บในเช้าหลังคืนวันลอยกระทง (ขยะทั้งหมด 430 กิโลกรัม) 

    ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่า “แม้ว่าในปีนี้ประชาชนจะตระหนักรู้และหันมาใช้กระทงจากวัสดุจากธรรมชาติกันมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่วัสดุจากธรรมชาติที่ประดิษฐ์กระทงเป็นเพียงวัสดุหลัก เช่น ใบตอง หยวกกล้วย ดอกไม้ เศษขนมปัง และเปลือกข้าวโพด ในขณะที่วัสดุอื่นที่ใช้ทำกระทง รวมถึงวัสดุตกแต่งยังคงเป็นวัสดุที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทะเลและชายฝั่งและทำลายสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็น ตะปู เข็มหมุด เศษเทียน ไม้เสียบ ก้านธูป และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยการใช้ ตะปู เข็มหมุด มีการใช้ที่เกินความจำเป็น บางกระทงมีจำนวนกว่า 100 ชิ้น ขณะเดียวกันขยะกระทงจำนวนมหาศาลได้เพิ่มความยากลำบากในการจัดเก็บและจัดการ ซึ่งการเก็บขยะครั้งนี้ทาง TEI ได้ร่วมออกแบบรูปแบบและแนวปฏิบัติที่ดีหลังค่ำคืนลอยกระทง โดยออกแบบกระบวนการเก็บ คัดแยก และจัดการหลังเก็บ ให้เกิดการนำไปหมุนวนใช้ประโยชน์ใหม่และง่ายต่อการกำจัด พร้อมมีข้อมูลเผยแพร่สร้างความตระหนักรู้ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและเป็นแผนปฏิบัติอย่างยั่งยืน”

โดยกิจกรรมเก็บขยะหลังวันลอยกระทงครั้งนี้ สามารถเก็บขยะได้มากกว่า 430 กิโลกรัม เป็นขยะกระทงมากถึงร้อยละ 90 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ และจากการแยกขยะกระทง 42 กิโลกรัม พบวัสดุต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ทะเลมากถึง 6 กิโลกรัม (ร้อยละ 14 ของกระทงที่แยก) โดยในจำนวนนี้เป็น ตะปู เข็มหมุด ลูกแม็ก   3 กิโลกรัม ขณะที่ขยะอื่น (ร้อยละ 10) จากกิจกรรมท่องเที่ยวหลังคืนวันลอยกระทง ส่วนใหญ่เป็น เศษไม้ ตะเกียบไม้ ลูกมะพร้าว และเปลือกผลไม้ 19 กิโลกรัม (ร้อยละ33) รองลงมาเป็นถุงพลาสติก กล่องพลาสติก ช้อน-ส้อมพลาสติก และหลอด 16 กิโลกรัม (ร้อยละ29) เศษอาหาร 11 กิโลกรัม (ร้อยละ20) และขวดพลาสติก 9 กิโลกรัม (ร้อยละ16) ตามลำดับ  และเป็นที่น่าตกใจ พบเศษพลุ กระดาษห่อพลุ ก้นบุหรี่ รวมถึงวัสดุบรรจุพลุมากถึง 4 กิโลกรัม (ร้อยละ 7) และไฟแช็ค 2 กิโลกรัม (ร้อยละ 3)  ซึ่งล้วนเป็นขยะเป็นพิษต่อระบบนิเวศทางทะเลทั้งนั้น

สำหรับการจัดการเศษวัสดุต่าง ๆ ข้างต้นจะนำไปจัดการตามประเภทโดยคำนึงถึงการหมุนวนใช้ประโยชน์สูงสุด

  • กลุ่มขวดพลาสติกใส ขวดแก้ว และกระป๋อง นำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และฝาขวดพลาสติก นำไป Upcycle ผ่านกลุ่มบางแสนคอลเลคชั่น
  • กลุ่มถุงพลาสติก ถุงหูหิ้ว ถุงขนม ถุงสายเดี่ยวแก้วน้ำ กล่อง-แก้วพลาสติก โฟม หลอด ช้อน/ส้อมพลาสติก รองเท้า ฟองน้ำ เศษยาง ที่สกปรกและปนเปื้อน ส่งให้เทศบาล ส่งต่อไปเป็นขยะเชื้อเพลิง
  • เศษอาหาร เทศบาลส่งให้กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ ส่วนขยะอินทรีย์อื่น ๆ เช่น ลูกมะพร้าว เศษไม้ ตะเกียบไม้ ใบไม้ ใบตอง รวมทั้งกล่อง-ถ้วยชานอ้อย เทศบาลนำไปทำปุ๋ย แจกจ่ายให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ และกลุ่มไฟแช็ค เศษพลุ ก้นบุหรี่ ขยะที่มีสารเคมี รวบรวมส่งให้เทศบาล ส่งต่อกำจัดอย่างถูกวิธี

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ฝากทิ้งท้ายถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและประชาชนว่า ขยะไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลหรือกิจกรรมต่าง ๆ เท่านั้น แต่ขยะเกิดขึ้นได้ในทุกวัน โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ทำให้เกิดมลพิษทางทะเลและส่งผลกระทบต่อสัตว์มากที่สุด ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมโดยช่วยกันปรับเปลี่ยน  พฤติกรรมในชีวิตประจำวันทั้งการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมคัดแยกขยะก่อนทิ้งเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องง่ายต่อการจัดการ และในปีต่อ ๆ ไป หากจะมีการลอยกระทงจะต้องมีการห้ามใช้เข็มหมุด ตะปู หรือคลิบเป็นองค์ประกอบ เพราะเป็นการทำลายระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยไม่สามารถจัดเก็บได้หมดก็จะเป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อม กระทงทำจากวัสดุธรรมชาติที่เราเห็นรูปร่างภายนอกยังเป็นธรรมชาติไม่จริง หรือ ธรรมชาติเทียมนั้นเอง ดังนั้นการลอยกระทงของเรา ทำอย่างไรจะไม่ให้กระทงหลงทาง

 

Skip to content