Skip to content
26 เมษายน 2025

THE MASTER

ย่อโลกข่าวไว้ในมือคุณ

วัยเด็ก วัยทำงาน อาจเสี่ยงเบาหวานขึ้นจอตาโดยไม่รู้ตัว

a little girl has an eye pain, eye injury, conjunctivitis, allergies, a child has swollen eyes

Article

เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ หรือการ Work From Home นั่งหน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์อยู่บ้านนาน ๆ รับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป แล้วขาดการออกกำลังกาย อาจเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้โดยไม่รู้ตัวและอาจมีโรคแอบแฝงที่เป็นอันตรายได้ทุกส่วนของร่างกาย รวมถึงดวงตา ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสตาบอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 25 เท่าถ้าเบาหวานขึ้นจอตา การรู้เท่าทันเพื่อเตรียมรับมือและป้องกันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย

พญ.วีรยา พิมลรัฐ จักษุแพทย์ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่สามารถพบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย ซึ่งพบได้มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเบาหวาน ในปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคเบาหวานในเด็กเพิ่มมากขึ้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นในเด็ก โดยเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ส่วนเบาหวานชนิดที่ 1 มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี แต่ในวัยรุ่นก็พบได้เช่นกัน ซึ่งมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย เพราะเด็กมักจะมีพฤติกรรมนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ แทนการวิ่งเล่นหรือเล่นกีฬามากขึ้น หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดซึ่งส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายรวมถึงดวงตา ได้แก่ กล้ามเนื้อตา เลนส์ตา ขั้วประสาทตา เส้นประสาทตา และจอตา ซึ่งสามารถได้รับผลกระทบจากเบาหวานทั้งสิ้น ซึ่งภาวะเบาหวานขึ้นตาเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น

Stress relief. Portrait of beautiful blonde senior woman with severe headache while she holds hands on her head with closed eyes.
Anatomy of normal eye and Diabetic retinopathy in people who have diabetes. Illustration about health and eyesight.

โรคเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เกิดจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้หลอดเลือดที่จอตา (Retina) ได้รับความเสียหาย โดยมี 2 ภาวะหลักที่ทำให้การมองเห็นแย่ลง คือ จุดภาพชัดบวมน้ำ (macular edema) เกิดขึ้นเมื่อมีการรั่วของสารน้ำและโปรตีนจากหลอดเลือดบริเวณจุดภาพชัดซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการมองเห็นส่วนกลาง ทำให้จุดภาพชัดหนาตัวและบวมขึ้นรบกวนการมองเห็นส่วนกลางและอาจเห็นภาพบิดเบี้ยว และ เบาหวานขึ้นตาระยะที่มีหลอดเลือดเกิดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดที่จอตาถูกทำลายจากเบาหวานจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ทำให้จอตาขาดเลือดและออกซิเจนกระตุ้นให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งหลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้พัฒนาอย่างเหมาะสม มีผนังไม่แข็งแรง เปราะแตกฉีกขาดได้ง่าย มีเลือดออกในวุ้นตา เกิดพังผืดดึงรั้งจอตา ซึ่งเป็นสาเหตุให้จอตาลอก (Retinal detachment) ตามมา และอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ หลอดเลือดงอกใหม่ที่ม่านตา (Neovascularization of the iris) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานขึ้นตาที่จอตามีการขาดเลือดและออกซิเจนอย่างรุนแรง หลอดเลือดงอกใหม่บริเวณม่านตาสามารถอุดกั้นการระบายน้ำออกจากตา ทำให้ความดันตาสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน เรียกภาวะนี้ว่า ต้อหินชนิดมีเส้นเลือดงอกใหม่ (Neovascular glaucoma) ซึ่งเป็นต้อหินชนิดรุนแรงทำให้เกิดการปวดตามากจากความดันตาที่ขึ้นสูงและรักษายาก มักไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียวเหมือนกับต้อหินชนิดอื่นๆ จำเป็นต้องรักษาเบาหวานขึ้นตาร่วมด้วย

นอกจากนี้ต้อกระจก (Cataract) ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการมองเห็นที่ลดลง พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานโดยระยะเวลาในการเป็นเบาหวานและการควบคุมระดับน้ำตาลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเป็นต้อกระจกเร็วขึ้นกว่าคนปกติ ในระยะเริ่มต้นอาจแก้ไขสายตาด้วยการใส่แว่น การผ่าตัดรักษาต้อกระจกจะทำเมื่อการมองเห็นแย่ลงหรือต้อกระจกบดบังการตรวจจอตาและรักษาเบาหวานขึ้นตา ความผิดปกติของกระจกตาจากเบาหวาน (Diabetic Keratopathy) ผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิดการถลอกหรือแผลที่กระจกตาได้ง่ายจากการสูญเสียการรับความรู้สึกบริเวณกระจกตา ในกรณีที่เบาหวานที่ระดับน้ำตาลสูงเป็นระยะเวลานาน ผิวกระจกที่ถลอกหรือหลุดลอกจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือจากการใส่คอนแทคเลนส์ อาจจะหายยากกว่าปกติและมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผลติดเชื้อที่กระจกตาได้มากขึ้น กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง (Paresis of extraocular muscle) อาจทำให้เกิดอาการเห็นภาพซ้อน (double vision) อย่างฉับพลัน เนื่องจากเบาหวานทำลายหลอดเลือดขนาดเล็กที่มาเลี้ยงเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3, 4, หรือ 6 ที่ทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อในการกลอกตาแต่ละมัด โดยส่วนใหญ่ภาวะกล้ามเนื้อตาอ่อนแรงจากเบาหวาน อาการจะดีขึ้นหลังตรวจพบประมาณ 3 เดือน และสามารถหายเป็นปกติได้ ถ้าเกิดภาพซ้อนจะรักษาด้วยแว่นปริซึม หากนานเกิน 6-12 เดือนยังไม่ดีขึ้น อาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อตา ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ต่อดวงตาจากเบาหวาน ผู้ป่วยต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ และ งดดื่มแอลกอฮอล์ สังเกตความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นและควรพบจักษุแพทย์หากพบว่ามีการมองเห็นเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น ตามัว มองไม่ชัด มองเห็นเป็นจุดดำ เห็นภาพบิดเบี้ยว หรือเห็นภาพซ้อน เป็นต้น

            ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการตรวจตาโดยละเอียดและขยายม่านตาตรวจจอตาแม้ไม่มีอาการผิดปกติทางการมองเห็นเพื่อคัดกรองเบาหวานขึ้นตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หลังการขยายม่านตาตรวจจอตาผู้ป่วยอาจมีอาการตามัวเป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเอง ควรมีญาติไปด้วยเพื่อความปลอดภัย หากไม่พบความผิดปกติ ควรตรวจตาและขยายม่านตาปีละ 1 ครั้ง หากพบเบาหวานขึ้นตา อาจจะต้องได้รับการรักษาหรือการตรวจบ่อยขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของเบาหวานขึ้นตาและความรุนแรงของโรคด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.02-755-1005  หรือ แอดไลน์ @bangkokhospital